POLITICS

‘ชัชชาติ’ ลงเรือสำรวจคลองหัวลำโพง ตะลึง! ค่าบีโอดีพุ่งเกินค่าเฉลี่ย

‘ชัชชาติ’ ลงเรือสำรวจคลองหัวลำโพง ตะลึง! ค่าบีโอดีพุ่งเกินค่าเฉลี่ย เล็งรื้อระบบสุขา แก้ปัญหาระยะยาว ระบุ เป็นเรื่องท้าทาย เพราะอยู่ใกล้ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ สถานที่จัดเอเปค

วันนี้ (20 ก.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมฟื้นฟูคลองหัวลำโพง เนื่องในวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ ณ บริเวณหน่วยเก็บขยะทางน้ำคลองหัวลำโพง เขตคลองเตย โดยมีสำนักระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตคลองเตย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ เครือข่าย ป.อนุรักษ์ ร่วมกันปลูกต้นอโศกอินเดีย 70 ต้น พร้อมลงเรือสำรวจสภาพน้ำและขยะในคลองหัวลำโพงด้วย

นายชัชชาติ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคลองสวยน้ำใส จีงนึกถึงคลองหัวลำโพง ถือเป็นคลองที่โหดสุด เพราะมีความยาวไม่ถึง 3 กิโลเมตร แต่มีบ้านเรือนที่รุกล้ำเข้ามา ซึ่งปัญหาน้ำเน่าเสียส่วนหนึ่งมาจากน้ำเสียในครัวเรือนด้วย จึงอยากพัฒนาคลองหัวลำโพงให้เป็นคลองต้นแบบ

นายชัชชาติ อธิบายต่อว่า เดิมคลองหัวลำโพง เป็นคลองที่วิ่งอยู่ในหัวลำโพง แต่ภายหลังถูกถมทำถนนจนกลายเป็นคลองเล็ก ๆ เป็นจุดที่ท้าทายมาก เพราะจะได้กลิ่นน้ำเน่าเหม็น บ้านเรือนที่อยู่ริมคลองก็ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงคลองทั้งห้องสุขา และการซักล้างต่าง ๆ ลงคลองทั้งหมด หากเป็นไปได้คงหาแนวทางปรับปรุงระบบห้องสุขาให้กับชุมชนริมคลองหัวลำโพง ส่วนต้นคลองก็มีตลาดคลองเตย เชือดไก่ เชือดหมู ชำระล้างลงคลอง ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีบ่อบำบัดหรือไม่

โดยการฟื้นฟูคลอง เป็นหนึ่งในนโยบายข้อที่ 171 ครอบคลุมการดูแลตลาดให้ถูกสุขอนามัย ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคณะทำงานเพื่อหาพื้นที่นำร่องในการพัฒนาคลองให้สะอาด ก่อนขยายไปคลองอื่น ๆ ของ กทม. ส่วนคลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว มีโปรเจกต์แจกบ่อดักไขมัน และแก้ไขเรื่องการรุกล้ำพื้นที่ริมคลองด้วย

“จุดนี้อยู่กลางเมือง ไม่กี่กิโลเมตรจากศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะมีผู้นำโลกมารวมกัน เป็นเรื่องท้าทายที่เราต้องทำให้ได้”

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูคลองหัวลำโพง 3 เฟส เฟสแรก (ระยะ 6 เดือน) สร้างผังข้อมูลน้ำและโมเดลนำร่อง เฟสที่ 2 (ระยะ 10 เดือน) เริ่มโมเดลนำร่องในจุดที่น้ำมีคุณภาพแย่ ส่วนเฟสที่ 3 ปรับภูมิทัศน์บ้านเรือน และสำรวจความเข้มข้นของน้ำ

ดร.ไชโย จุ้ยศิริ ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำจืด กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า คลองหัวลำโพงวัดค่า FCB หรือค่าความสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากสิ่งปฏิกูลได้หลักแสน หลักล้าน จากค่าเฉลี่ย 4,000 ส่วนค่าบีโอดี BOD (Biological Oxygen Demand ) หรือการหาปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียใช้ในการหายใจ วัดได้หลักร้อย ซึ่งทั้งสองค่านี้สูงกว่าเกณฑ์ปกติการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำประเภทที่ 3

เรื่อง/ภาพ: ณัฐพร สร้อยจำปา

Related Posts

Send this to a friend