POLITICS

‘รศ.ดร.ประจักษ์’ เตือน ‘รัฐประหารโดยรัฐสภา’ ห่วงเกิดเดดล็อกเลือกนายกฯ

‘รศ.ดร.ประจักษ์’ เตือน รัฐบาลประชาธิปไตย ถูก “รัฐประหารโดยรัฐสภา” ห่วงเดดล็อก (Deadlock) เลือกนายกรัฐมนตรี ติดกับดักเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ย้ำ ข้อบังคับรัฐสภา จะต้องไม่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ แนะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

วันนี้ (20 ก.ค. 66) รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว The Reporters ถึงเรื่องการเมืองไทยว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (19 ก.ค. 66) ภายหลังที่ประชุมมีมติปัดตกการเสนอชื่อครั้งที่ 2 สำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้สะท้อนปัญหาที่อยู่มาเกือบ 2 ทศวรรษในประเทศไทย หากติดตามการเมืองไทย มีการตีความกฎหมายที่ค่อนข้างพิสดาร และไม่เป็นไปตามหลักการสากล รวมถึงไม่เป็นไปตามหลักการในรัฐธรรมนูญด้วย อย่างกรณีเมื่อวานนี้คือขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติปกติ โดยเป็นกระบวนการสำคัญที่มีการระบุวิธีการที่ชัดเจนไว้อยู่แล้วในรัฐธรรมนูญหากไม่ทำตามวิธีการที่บรรจุไว้ โดยนำข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่มีศักดิ์ต่ำกว่า จะสร้างปัญหาให้ในอนาคต เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของนายพิธา หรือพรรคก้าวไกล แต่การกระทำเมื่อวันที่ 19 ก.ค.เป็นการตั้งมาตรฐานที่ผิด จะอันตรายทันที เพราะหากแก้ไม่ได้ ก็จะใช้ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งการสรรหานายกฯ หลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นในสัปดาห์หน้า หรือมีการเลือกตั้งอีก การตีความเมื่อวานนี้จะต้องใช้ไปอีกยาวเลย จะวุ่นวาย ทำให้การเมืองไทยถึงทางตัน

“นักวิชาการจึงต้องออกมาเตือนสติสังคมว่าเรื่องเมื่อวานนี้ไม่ถูกต้อง การลงมติเสียงข้างมากไปเมื่อวานนี้รวมถึงการวินิจฉัยของประธานที่นำไปสู่การลงมติไม่ถูกต้องจึงไม่ควรต้องลงมติว่าเป็นญัตติหรือไม่”

รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุต่อว่า การประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ทำให้กระบวนการการสรรหานายกฯ ผิดเพี้ยน จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมนักกฎหมายหลายคนถึงกังวลเรื่องนี้ นักวิชาการหลายคนแม้จะไม่ได้เชียร์ก้าวไกล ก็ออกมาให้ความเห็น แม้แต่ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เจ้าของวลี “เขาอยากอยู่ยาวจึงปัดตกร่างรัฐธรรมนูญไป” ก็ออกมาแสดงความเห็น

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญ 60 ทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรี และทำให้การเมืองไทยติดเดดล็อกอยู่แล้ว อย่างเรื่องแรกคือ ระบุเอาไว้ว่าการเลือกนายกฯ ต้องมาจากบัญชีแคนดิเดตนายกฯ เท่านั้น นับเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ในสมัยก่อนแต่ละพรรคไม่ต้องเสนอชื่อแคนดิเดตนายก สามารถเลือก สส. คนไหนก็ได้ โดยเลือกจากหัวหน้าพรรคของพรรคที่ชนะมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ล็อกว่าต้องเลือกจากใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้บังคับให้เสนอ 3 รายชื่อเท่านั้น ซึ่งระบบรัฐสภาทั่วโลกก็ไม่มี สส. ทั้ง 500 คน ทุกคนมีสิทธิเป็นนายกฯ ได้หมด ถ้าได้เสียงในสภามากพอ ซึ่งในสมัยก่อนจะนิยมนำแคนดิเดตนายกฯ เป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง และไม่ถึงทางตันเพราะสามารถเลือกคนที่ 2 หรือคนต่อไปได้ ตอนนี้หากเลือกแล้วไม่ได้ มีโอกาสเกิดสุญญากาศ และเกิดเป็นรัฐบาลรักษาการ

“พรรคเพื่อไทยเองก็ต้องมาเจอความยากลำบากตรงนี้ หรือในอนาคตพรรคไหนที่ชนะเลือกตั้งมาก็จะมาเจอความยากลำบากแบบนี้เช่นกัน”

รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดช่องไว้อยู่แล้วว่าการเลือกนายกฯ ไม่ได้มีกรอบเวลา เพราะรู้ว่าอาจไม่จบภายในรอบเดียวยิ่งมี สว. เข้ามา ทำให้การเลือกยากขึ้น ผิดเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องบันทึกเอาไว้ มิเช่นนั้น จะเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองการตีความกฎหมายแบบที่ผิด เราถึงต้องเริ่มสร้างวัฒนธรรมใหม่

ส่วนการเสนอให้ศาลธรรมนูญตีความอาจทำให้เกิดการสุญญากาศการเลือกนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า ในทางหลักการ ควรไปยื่นเอาไว้แม้ว่าจะไม่สามารถวินิจฉัยให้ทัน แต่จะสำคัญสำหรับการวางหลักที่ถูกต้อง หากศาลธรรมนูญตีความว่าผิด ในอนาคตจะได้ไม่ต้องมาถกเถียงเรื่องนี้อีก ส่วนกระบวนการในสภาก็ต้องเดินหน้าต่อไป และจริง ๆ แล้วนายพิธา ไม่ได้หมดโอกาส แม้จะถูกตีความว่าเป็นญัตติ แต่ประธานสภาสามารถวินิจฉัยได้ ถ้าเหตุการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว ญัตตินั้นสามารถเสนอซ้ำได้ เช่นมีพรรคการเมืองเพิ่ม หรือมีการเสนอชื่อนายกฯ คนอื่นขึ้นมาประกบก็เป็นญัตติใหม่

“ถ้าฝั่ง 8 พรรคเล่นเกมการเมือง ก็เสนอชื่อคนจาก 8 พรรคขึ้นมาด้วย หากมีคนอื่นมาแข่งกันนายพิธาจะถือว่าไม่เท่ากับญัตติเดิม ขึ้นอยู่กับอาจารย์วันนอร์ ที่สามารถพลิกผิดให้เป็นถูกได้ และดีต่ออาจารย์วันนอร์ด้วย เพราะฉะนั้น ตำแหน่งประธานสภาจึงสำคัญมาก”

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า เหมือนให้อำนาจ สว. เป็น King maker หรือ ผู้จัดตั้งรัฐบาลตัวจริง ในการจับขั้วพรรคการเมืองเอง หากพลาดก็ไม่ได้เลย ยิ่งทำให้อำนาจต่อรองของพรรคการเมืองไม่มี และทำให้ สว. มีอำนาจกำหนดนโยบายจากพรรคการเมือง เป็นเหมือนพระเจ้า โดยไม่สนใจคะแนนการเลือกตั้ง

ส่วนการทำแบบนี้อาจเป็นการเปิดทางให้มีการเสนอชื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า ก็จะทำให้เหมือนการเลือกตั้งไม่มีความหมายหรือที่ประชาชนพูดว่า “ให้ไปเลือกตั้งทำไม เสียเวลา” การที่เราไม่เคารพผลการเลือกตั้ง เหมือนไปดูถูกประชาชนว่าไม่มีวิจารณญาณในการพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครให้ถี่ถ้วน หากเคารพผลเรื่องนี้ก็จบ

ส่วนตัวมองว่าคือ “การรัฐประหารทางอ้อมโดยรัฐสภา” ซึ่งเข้าใจได้ว่าทำไม สว. เล่นเกมนี้เพราะเห็นว่าไม่เคารพมติประชาชนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วพฤติกรรมการโหวตของ สว. ไม่ได้มีความแปลกใจ แต่ที่น่าผิดหวังคือ สส. จากพรรคการเมืองที่มาเล่นเกมการเมืองเรื่องญัตติ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ถูกต้องตามหลักธรรมมนูญ เหมือนสกัดคนที่คุณไม่ชอบ ทั้งที่ชนะเลือกตั้งมาแล้ว

“เป็นรัฐประหารตุลาการภิวัฒน์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนดุลอำนาจ การยุบพรรค อำนาจเลยเปลี่ยน ซึ่งตอนนี้เป็นวิธีการแบบใหม่ สว. ร่วมมือกับพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งที่แพ้การเลือกตั้ง เพื่อเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง เปลี่ยนเจตนารมณ์ของประชาชน ให้อำนาจเปลี่ยนมือ ปล้นอำนาจประชาชนกลางสภา”

ส่วนความเห็นที่ว่าการทำแบบนี้เปรียบเหมือน การล้างเผ่าพันธุ์ นั้น จะนำไปสู่สถานการณ์ทางการเมืองแบบไหน รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า จะทำให้ความขัดแย้งสูงขึ้น เห็นด้วยที่ว่าเขาทำไม่สำเร็จ ฝั่งผู้มีอำนาจแม้จะคุมกฎหมายได้ แต่ประชาชนก็เลือกขั้วตรงข้ามกับฝั่งชนชั้นนำ พรรคที่เคยชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ไม่เคยอยู่รอดทางการเมือง ไม่เคยอยู่ครบวาระเลยตั้งแต่ปี 48 ด้วยตุลาการภิวัฒน์ หรือการทำรัฐประหาร เป็นการใช้กฎหมายแบบ สองมาตราฐาน ทำให้อุณหภูมิทางการเมืองสูงขึ้น ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เพราะเสียงของประชาชนไม่ได้รับความเคารพ

“เราต้องผนึกกำลังกันไว้ เพื่อยืนยันในหลักการที่ถูกต้อง อะไรเป็นเกมการเมืองที่ผิดกติกา เรายังไม่อยู่ในความกดดันนั้น หาก 8 พรรคร่วมยังจับมือกันแน่น ไม่พลิกขั้ว รัฐบาลจะมีความชอบธรรม ไม่ว่านายกฯ จะมาจากพรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทย ฝั่งชนชั้นนำอยากให้เกิดการพลิกขั้วเพื่อให้ 8 พรรคแตกกันได้ วิธีการที่เป็นรูปธรรมให้เสนอชื่อนายพิธา พรรคเพื่อไทยก็เสนอชื่อด้วย แต่ไม่ได้โหวต หากไม่ได้ก็ไปคุยกันอีกที”

ส่วนกระแสเรื่องการบีบพรรคก้าวไกลให้ลดเพดานการแก้ไข 112 มิเช่นนั้นจะกลับไปเป็นฝ่ายค้านนั้น รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า จากที่ดูมา สมัยพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้เสนอเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ด้วย แต่ก็โดนยุบพรรค หรืออดีตทางการเมืองที่ผ่านมาก็โดนเล่นงานทางการเมืองอยู่ดี เพราะต้องการเล่นงานนายกฯ ที่ได้รับความนิยมสูงเกินไป ทำให้อำนาจของฝั่งอำนาจนิยมเขย่า ไม่เกี่ยวกับมาตรา 112 เลย ต่อให้ไม่มีแก้ไขมาตรา 112 ก็ยังมีเรื่องอื่นอยู่ดี กลุ่มทุนมีบทบาทมาก อยู่เบื้องหลังในการจัดตั้งรัฐบาลตัวจริง เพราะเขาเสียผลประโยชน์

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า หากครั้งนี้เพื่อไทยไปยอม ก็อาจมีเรื่องอื่นขึ้นมาอีก เช่น ตอนหาเสียง เพื่อไทยโดนโจมตีเรื่อง เงินดิจอตอลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ดังนั้น จึงต้องตั้งหบัก ไม่ให้ สว. กดดัน การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเกิดขึ้นได้ยาก อย่ากดดันกันเอง

เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลยังมีอีกหลายด่าน จะนำไปสู่การเมืองคล้ายปี 63 หรือไม่ รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ตอนนั้นเป็นกับระเบิดอันใหญ่ ซึ่งการยุบพรรคอนาคตใหม่ นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งตอนนั้นมีแค่ 6 ล้านเสียง แต่ตอนนี้มี 14 ล้านเสียง ถ้าทำแบบนั้นชนชั้นนำเห็นแก่ตัวมาก

รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า จากผลการเลือกตั้ง ประชาชนส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่าต้องการการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่เสนอนโยบายสุดโต่ง ในทางรัฐศาสตร์หากพรรคไหนเสนอสุดโต่งจริง จะไม่ชนะการเลือกตั้ง ไม่มีทางเป็นพรรคใหญ่ได้ แย่ถ้าถูกใจคน 10 กว่าล้าน อาจเห็นว่าสังคมควรเดินไปทางนี้ ชนชั้นนำต้องอ่านให้ออก ต้องแบ่งปันอำนาจกัน ถ้าฝืนความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง คนไม่เห็นว่าการเลือกตั้งคือสันติ สังคมไทยจะไม่เหลือ ถ้าทำให้การเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมที่โหวตถล่มทลายแค่ไหน ก็ไม่มีความหมาย เป็นสิ่งที่อันตรายมาก

“ถ้าเลือกมาเองเลยก็ยังอยู่ในระบอบเผด็จการที่คนส่วนน้อยเลือก จากแค่ 250 เสียงที่ตัดสินใจได้ว่าใครควรตั้งไม่ตั้ง โดยพรรคที่แพ้ผลการเลือกตั้ง ไม่มีใครมาประท้วงผลการเลือกตั้งนะ มีแค่ สว. ชนชั้นนำเท่านั้นที่คิดแทนประชาชน จึงเกิดการตั้งคำถามว่า แล้วเราเลือกตั้งมาทำไม เมื่อมีความขัดแย้ง จึงมีวิธีการตัดสินคือการเลือกตั้ง ครั้งที่แล้วตั้งเงื่อนไขให้ไปรวมเสียงข้างมากมา พอตอนนี้รวมมาได้แล้ว ก็ติดเรื่องนโยบาย เมื่อก้าวไกลไม่ได้ ก็มาให้เงื่อนไขกับเพื่อไทยอีกว่าถ้ามีก้าวไกลจะไม่โหวตให้ จะเห็นว่าเป็นการกดดันไปเรื่อย ๆ และรุกคืบมาเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้การเลือกตั้งไร้ค่า ประชาชนถูกด้อยค่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่าประเมินความอารมณ์ของผู้คนต่ำเกินไป”

Related Posts

Send this to a friend