POLITICS

กทม.เตรียมปรับบริการ กทม.เป็นดิจิทัล เพิ่มความโปร่งใส ลดดุลยพินิจเจ้าหน้าที่

กทม. ประชุมร่วม DGA และ ก.พ.ร. เตรียมปรับบริการ กทม.เป็นดิจิทัล เพิ่มความโปร่งใส ลดดุลยพินิจเจ้าหน้าที่

วันนี้ (20 มิ.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) โดย นางสาว อ่อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญที่สุดของ กทม. คือการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การเพิ่มความโปร่งใส และลดขั้นตอน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ การทำกระบวนการต่าง ๆ ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้การบริการประชาชนดีขึ้น ลดการใช้ดุลยพินิจของบุคคล และพยายามเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ให้มากขึ้น

นายชัชาติ กล่าวว่า DGA และ ก.พ.ร. มีหลายโครงการที่ดีมากที่จะช่วยกรุงเทพมหานครทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องแรก Open Data การนำข้อมูลต่าง ๆ มาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ DGA มีเว็บไซต์ที่สามารถลิงค์ข้อมูลต่าง ๆ ให้ประชาชนเข้ามาค้นหาข้อมูลได้ โดยกทม.จะนำข้อมูลงบประมาณประจำปี 2566 เปิดเผยขึ้นเว็บไซต์ กทม.พร้อมลิงค์ไปที่เว็บไซต์ของ DGA เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลงบประมาณ รวมทั้งเรื่อง Open Contract โดยนำสัญญาต่าง ๆ ที่เปิดเผยได้มาเปิดเผย เพื่อให้เห็นความโปร่งใส ขณะเดียวกัน ก.พ.ร. ก็มีแอปพลิเคชันที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็น และโหวตในเรื่องต่าง ๆ ได้ เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจมีความโปร่งใส

เรื่องที่ 2 สิทธิประโยชน์ของประชาชน สามารถตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเบี้ยคนพิการได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งจะเชื่อมข้อมูลกับกรมบัญชีกลาง ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลของตนเองได้ ขณะเดียวกันก็มีระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สำหรับการขอใบอนุญาตทางออนไลน์

เรื่องที่ 3 การพัฒนาเอกสารหลักฐานทางการศึกษารูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) สำหรับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งโรงเรียนฝึกอาชีพทุกแห่ง อนาคตคนที่เรียนจบจะได้รับ Digital Transcript ไปสมัครงาน หรือเรียนต่อ ได้อย่างสะดวกและไม่ถูกปลอมแปลงเอกสาร

เรื่องที่ 4 การสนับสนุนการพัฒนาทักษะบุคลากรกรุงเทพมหานครด้านดิจิทัล DGA จะร่วมสนับสนุน อาจมีการจัดแคมป์ร่วมกันเพื่อพัฒนาอาสาสมัครเทคโนโลยีของกรุงเทพมหานคร ช่วยประชาชนให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของภาครัฐ นอกจากนี้ GDA มีแหล่งเรียนรู้สำหรับข้าราชการกรุงเทพมหานคร ทุกคนที่จะเข้ามาพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง ด้าน ก.พ.ร. ก็มีหลายโครงการที่ กทม. เข้าร่วมได้ อาทิ โครงการประกวดประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การจัดการขยะที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น ซึ่งหลายเรื่องดำเนินการได้ทันที และจะมีการหารือกันทุกเดือนเพื่อติดตามความก้าวหน้าในเรื่องต่าง ๆ

นายชัชชาติ กล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเทคโนโลยีใช้งบประมาณไม่มาก แต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการได้มาก โดยเฉพาะการขอใบอนุญาต ซึ่งสามารถทำให้เป็น One Stop Service หรือ Super license ที่สามารถขอใบอนุญาตหลายใบในครั้งเดียวโดยไม่ต้องทำหลายกระบวนการ จะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่หรือผู้ที่อยากทำธุรกิจสะดวกมากขึ้น และเพิ่มความโปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง

ขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการพัฒนาระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) หรือ One Stop Service ให้ประชาชนใช้บริการขอใบอนุญาตออนไลน์ คาดว่าจะพร้อมให้บริการประชาชนในช่วงปลายปี 65

Related Posts

Send this to a friend