POLITICS

กลุ่มลูกจ้าง สธ. – พกส. 4 ภาค ร้อง กมธ.การสาธารณสุข

ขอปรับเพิ่มค่าตอบแทน-สวัสดิการ หลังได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ชี้องค์กรสาธารณสุขไม่ได้มีเพียงแพทย์และพยาบาลเท่านั้น

วันนี้ (20 ก.พ. 67) กลุ่มลูกจ้าง และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) 4 ภาค ยื่นหนังสือร้อง เรื่องขอปรับเพิ่มค่าตอบแทน และสวัสดิการของลูกจ้าง และ พกส. เพื่อผลักดันพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 56 สายงาน ให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ และปรับขึ้นเงินอัตราค่าจ้างอย่างเป็นธรรม โดยมี นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข เป็นผู้เข้ารับหนังสือเรื่องร้องเรียน

นางสาวอภิสรา พันธ์พหลเวช ผู้ประสานงานกลุ่มลูกจ้าง และ พกส. 4 ภาค ระบุว่า ตนเทำงานมาตลอด 20 ปี แต่ได้รับเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท โดยภาระงานที่ทำไม่ได้ต่างจากกลุ่มวิชาชีพแพทย์และพยาบาลเลย แต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแล วันนี้จึงมาร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีอำนาจ โดยมีแนวทางการแก้ปัญหาของกลุ่มลูกจ้างที่นำมาเสนอ ดังนี้

1.กำหนดระยะเวลา และหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง คือ ให้ลูกจ้างรายวัน รายคาบ และจ้างเหมา เป็นลูกจ้างรายเดือน และลูกจ้างรายเดือนเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุขทุกสายงาน ได้ปรับเป็นพนักงานราชการ

2.ให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจณปัจจุบัน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา โดยให้ปรับเพิ่มจากฐานเงินเดือนเดิม 3,000 บาท สืบเนื่องจาก ข้อ 2 หากไม่สามารถดำเนินการได้ ขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนแบบขั้นบันได

3.การปรับเพิ่มเงินเดือนประจำปี ให้ปรับเพิ่มปีละ 2 ครั้ง และแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 2.5%

4.ขอพิจารณาสวัสดิการของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม คือ ขอสวัสดิการเทียบเท่าลูกจ้างประจำ และยกเลิกสัญญาจ้างจากเดิม 4 ปี เป็น 60 ปี

5.ความคืบหน้าของการบรรจุข้าราชการของ พกส. 63 สายงาน (Back Office) ตามมติครมที่ผ่านมา

6.พิจารณาค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษให้สำหรับพนักงานขับรถยนต์ที่ปฏิบัติงานยามวิกาล

นางสาวกัลยพัชร กล่าวว่า เราเชื่อมั่นว่าองค์กรสาธารณสุขไม่ได้มีเพียงแต่แพทย์และพยาบาลเท่านั้น แต่มีทั้งองคาพยพซึ่งเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ปัญหาหลักของกลุ่มพนักงานกระทรวงสาธารณสุข คือการได้รับค่าแรงที่ต่ำ อัตราการขึ้นค่าแรงที่น้อย ไม่เป็นธรรม และสวัสดิการที่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้การบรรจุข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข มีการพูดคุยกันในคณะ กมธ.การสาธารณสุขว่า เราต้องการแยกกระทรวงสาธารณสุขออกจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ถึงแม้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราต้องการที่จะเริ่มต้นในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องลูกจ้าง และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่นำมายื่น เราจะรับเรื่องนี้เข้าใน กมธ.การสาธารณสุข และดำเนินการต่อไป

Related Posts

Send this to a friend