‘ประเสริฐ’ เผย สถิติอาชญากรรมทางออนไลน์ที่ลดลง หลังมีคำสั่งเปิด-ปิดด่านกัมพูชา
‘ประเสริฐ’ เผย สถิติอาชญากรรมทางออนไลน์ที่ลดลง หลังมีคำสั่งเปิด-ปิดด่านกัมพูชา ชี้ รัฐบาลเตรียมดำเนินการต่อเนื่อง ป้องกัน-ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
วันนี้ (19 มิ.ย. 68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงความคืบหน้าสถิติอาชญากรรมออนไลน์ลดลงจากมาตรการปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชา ว่ากัมพูชากำลังถูกจับตาในฐานะศูนย์กลางอาชญากรรมไซเบอร์ข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก เบื้องหลังของวงจรออนไลน์ที่อาศัยแรงงานจากการค้ามนุษย์ได้รับการเอื้อประโยชน์อย่างเป็นระบบจากโครงสร้างรัฐและชนชั้นปกครองระดับสูง
รายงานโดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวอย่างละเอียดถึงกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ อาชญากรรมทางไซเบอร์ และการฉ้อโกงทางออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ รวมถึงมีแผนที่ที่ระบุฐานปฏิบัติการของมิจฉาชีพหลายแห่งอย่างชัดเจนตามแนวชายแดนกัมพูชา–ไทย โดยเฉพาะเมืองปอยเปต ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนกัมพูชา ตรงข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับเครือข่ายอาชญากร Scam Centres ที่เป็นแหล่งรายได้หลักของกัมพูชา คิดเป็นร้อยละ 80
ในฐานะรัฐมนตรีดีอี ได้พยายามหยุดยั้งปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ และการฉ้อโกงทางออนไลน์ในทุกรูปแบบ ซึ่งจากสถิติข้อมูลที่ได้รายงานประจำเดือนมิถุนายน 2568 การแจ้งความออนไลน์มีแนวโน้มลดลงจากเดิมประมาณ 1,300 ราย ในช่วงที่มีคำสั่งเปิด–ปิดด่านเป็นช่วง ๆ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่าน เป็นผลให้สถิติการแจ้งความออนไลน์ลดลงมาเหลือ 900 ราย ในวันที่ 8 มิถุนายน 2568 หลังปิดด่านได้เพียง 1 วัน ถึงแม้บางช่วงจะมีสถิตแนวโน้มเพิ่มกลับขึ้นมา แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงที่ยังไม่มีการปิดด่าน และกลับมาลดลงหลังจากมีคำสั่งห้ามคนไทยข้ามไปทำงานที่กัมพูชา
สถิติข้อมูลวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566 พบรายงานการหลอกลวงทางออนไลน์ 229,923 รายงาน เสียหายรวม 34,501 ล้านบาท และเมื่อเปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนเทคโนโลยี (AOC 1441) วันที่ 1 มีนาคม 2567 ถึง 31 มีนาคม 2568 จัดการคดีมากกว่า 1.18 ล้านคดี ระงับบัญชีม้าได้กว่า 521,915 บัญชี ป้องกันการสูญเสียมากกว่า 19,964 ล้านบาท
ข้อมูลวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 สายด่วน AOC 1441 รับสายเข้ารวม 1,769,958 สาย ส่งผลให้บัญชีที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงถูกระงับการใช้งาน 686,515 บัญชี และตรวจสอบความเสียหายมูลค่า 29,750 ล้านบาท จากข้อมูลจะเห็นว่าการปิดด่าน การตัดไฟ การตัดเน็ต สามารถทำให้อาชญากรข้ามชาติ อาชญากรรมทางไซเบอร์ และการฉ้อโกงทางออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ ลดลงโดยเฉพาะ
1) ปัญหาการโทรผ่านระบบมือถือเพื่อหลอกลวงประชาชนจะหายไปอย่างสิ้นเชิง
2) การกดเงินเพื่อนำออกไปนอกประเทศผ่านบัญชีม้าจะลดลงเพราะได้เชื่อมโยงกับระบบธนาคาร/สถาบันการเงินที่ผู้กดเงินจะต้องสแกนใบหน้า ทำให้การนำเงินออกไปยากมากขึ้น เงินจะค้างในระบบ ทำให้สามารถดึงเงินคืนให้กับผู้เสียหายได้
นายประเสริฐ กล่าวว่า สิ่งที่ตนเองและรัฐบาลจะเร่งการดำเนินการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เช่น กำหนดมาตรการจัดการบัญชีม้า กำหนดมาตรการและตรวจสอบการลงทะเบียน Sender Name เพิ่มความเข้มข้นในการระงับการให้บริการโทรคมนาคม จัดทำกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติกระบวนการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย พัฒนาระบบแพลตฟอร์มกลาง ฐานข้อมูลกลาง ศปอท. เร่งจัดทำระเบียบกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าด้วยการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และอีกหลายมาตรการ