POLITICS

โฆษกรัฐบาลเผย อุตสาหกรรมภาพยนตร์นานาชาติในไทยเติบโต คาดมูลค่ากว่า 750 ล้านบาท

วันนี้ (19 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความก้าวหน้า และผลตอบรับของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ซึ่งนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยต่อเนื่อง โดยล่าสุดไทยได้ร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงปักกิ่ง ครั้งที่ 13 (Beijing International Film Festival) เป็นครั้งแรก และได้รับเกียรติจากผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์ให้ไทยเป็น Country of Honour ประจำปี 2566 ด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า Film Market เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงปักกิ่ง ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 25-27 เมษายน 2566 เป็นงานซื้อขายภาพยนตร์ที่สำคัญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีน รวบรวมบริษัทในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ เกาหลีใต้ มาเลเซีย จอร์แดน ไทย เป็นต้น ภายในงานเป็นการเจรจาธุรกิจซื้อขายภาพยนตร์ จัดแสดงอุปกรณ์การถ่ายทำ และการประชาสัมพันธ์สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์

หน่วยงานของไทย ได้แก่ กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ร่วมกันประชาสัมพันธ์เชิญชวนคณะจากต่างประเทศให้เข้ามาถ่ายทำในไทย ตลอดจนจำหน่ายภาพยนตร์ไทยให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ สร้างความสนใจให้แก่ผู้สร้างภาพยนตร์จากจีนพิจารณาเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยได้กว่า 7 ราย คาดการณ์มูลค่าการลงทุน 750 ล้านบาท

หน่วยงานของไทยพร้อมสานต่อความสำเร็จในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ที่จะมีขึ้นช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อขยายช่องทางการเจรจาร่วมกับผู้สร้างภาพยนตร์ทั่วโลกให้มาถ่ายทำในไทยเพิ่มขึ้น พร้อมประชาสัมพันธ์มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย โดยมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย (Incentive Measures) ได้ดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กองถ่ายต่างประเทศ มีการคืนเงิน (Cash Rebate) ซึ่งปรับขึ้นเป็นร้อยละ 20 – 30 เป็นระยะเวลา 2 ปี และการปรับเพดานการคืนเงิน

“นายกรัฐมนตรียินดีต่อความเชื่อมั่นที่ไทยได้รับอย่างต่อเนื่องจากหลายภาคส่วน ซึ่งผลตอบรับดังกล่าวเป็นเสียงสะท้อนความสำเร็จในการกำหนดนโยบายของไทย ในส่วนของอุตสาหกรรมภาพยนต์ต่างประเทศสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พร้อมลงทุนในประเทศไทย ซึ่งพร้อมพัฒนาขีดความสามารถและขยายช่องทางการตลาด ดึงดูดการลงทุนสร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศ และพร้อมที่จะต่อยอดพัฒนาจากด้านภาพยนตร์ไปอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งในมิติอื่น ๆ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Related Posts

Send this to a friend