POLITICS

ชัชชาติ รับฟังปัญหา ซาเล้ง – ร้านรับซื้อของเก่า เล็งขึ้นทะเบียนซาเล้ง

วันนี้ (17 ส.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เพื่อหารือแนวทางการจัดการมูลฝอยและข้อปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายชัชชาติ กล่าวว่า “มูลค่าของการรับซื้อของเก่าทั่วประเทศ​ คือกว่าสามแสนล้านบาท​ ซึ่งมีซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนั้น​ โดยในกรุงเทพฯมีสมาชิกซาเล้งกว่า 30,000 คน​ ซึ่งต้องถือว่าเป็นซาเล้งช่วยชาติ​ เพราะเป็นผู้นำขยะไปรีไซเคิล ลดกระบวนการเก็บขยะโดยไม่เสียค่าจ้าง​ การมีอยู่ของซาเล้งจึงเป็นประโยชน์ต่อการดูแลขยะของเมือง​ เพราะฉะนั้นในภาพรวมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะทำความเข้าใจกับธุรกิจนี้ เพื่อให้กระบวนการรีไซเคิลสมบูรณ์แบบมากขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งภาพรวมคือการจัดระบบการกำจัดขยะของเมือง​โดยการหาแนวทางร่วมกัน​ โดยกทม.จะดูแลในหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น​ การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการร้านรับซื้อของเก่า​ การลงทะเบียนผู้ประกอบอาชีพขับซาเล้ง​ เป็นต้น​ เพื่อควบคุมคุณภาพในเรื่องที่เกี่ยวข้อง​ โดยเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองที่เราอาจจะขาดการดูแล​ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดขยะของเมือง”

สมาคมซาเล้งฯมีข้อเรียกร้องกับทางกทม. ให้มีการขึ้นทะเบียนซาเล้ง เพื่อให้หมู่บ้านต่างๆ เปิดรับซาเล้งเข้าไปเก็บขยะตามบ้านต่างๆ ได้สะดวก และพร้อมสนับสนุนให้มีเครื่องชั่งน้ำหนัก ต่อมาให้มีการกำหนดการรีไซเคิลเพื่อให้เป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น และจะมีแอพพลิเคชั่นเพื่อเรียกซาเล้งเข้าไปเก็บขยะ ส่วนเรื่องขยะกำพร้าหรือขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ ซึ่งอาจจะนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิง RDF ต่อมาอาจเพิ่มวิชารีไซเคิล กับโรงเรียนในสังกัด กทม.

“เมื่อไม่มีร้านรับซื้อของเก่าในพื้นที่ ทำให้ซาเล้งต้องวิ่งไกลเพิ่มต้นทุนค่าน้ำมัน เมื่อเช้าไปเจอซาเล้งแถวถนนปรีดี พนมยงค์ เขาบอกว่าลำบาก ขายขยะได้แค่วันละ 300 กว่าบาท ค่าน้ำมันก็ไม่พอแล้ว จึงจำเป็นต้องมีร้านรับซื้อของเก่า แบบถูกกฎหมายและกระจายไปหลายพื้นที่ ขยะในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีฝั่งกลบเป็นหลัก ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายการบริหารขยะแพงมาก ถ้ามีแนวร่วมเปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้ หรืออย่างงน้อยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนอื่น ก็เป็นเรื่องดีของสังคม” นายชัชชาติกล่าว

นายพรพรหม กล่าวว่า ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการแยกขยะ เพราะคิดว่าแยกแล้วแต่พนักงานเก็บขยะก็ยังเทรวมกันอยู่ดี ซึ่งกรุงเทพมหานครกำลังทำโครงการนำร่อง โดยแยกรถขยะที่เก็บเศษอาหารโดยเฉพาะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน โดยเริ่มต้น 3 เขต ได้แก่ ปทุมวัน พญาไท และหนองแขม ในวันที่ 4 กันยายนนี้ โดยเริ่มจากเส้นทางนำร่อง และขยายเก็บทั้งเขตในต้นปี 2566

นายชัยยุทธิ์ กล่าวว่า ตามผังเมืองที่ไม่ใช่เขตอุตสาหกรรม สามารถตั้งร้านรับซื้อของเก่าได้ไม่เกิน 100 ตารางเมตร ซึ่งมีขนาดเล็กมาก เพื่อให้มีการแก้ไขจากจุดเริ่มต้น ให้มีการประกวดร้านรับซื้อของเก่า เช่น ไม่ตั้งกองขยะไว้หน้าร้าน ไม่อยู่บนทางเท้า มีการทำรั้วกั้น ทำป้ายให้ดูดี มีที่จอดรถ ไม่สร้างความรำคาญให้กับคนอื่น ต่อมาขอการอนุโลมให้ร้านตั้งเครื่องจักรอัดขวดพลาสติก 10 แรงม้า ส่วนขยะกำพร้า เป็นขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลต่อได้ โดยขอให้แต่ละเขตมีจุดรับขยะพวกนี้ เพื่อไปทำเป็นเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (RDF) ต่อไป

Related Posts

Send this to a friend