POLITICS

ก้าวไกลจี้ ศธ.เพิ่มงบให้โรงเรียน ลดค่าใช้จ่าย ผู้ปกครอง ห่วงเด็กยิ่งเรียนออนไลน์ ยิ่งไม่เข้าใจ

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ณ อาคารรัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ตั้งคำถามกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการช่วงหนึ่งว่า ประเด็นเรื่องการลดค่าเทอม ที่ประชาชนในสังคมต่างให้ความสนใจ หากไม่มีเงินอุดหนุนจากส่วนกลางมอบให้ไป จะให้ไปบีบบังคับโรงเรียนแต่ละโรงเรียนลดค่าเทอมเองคงแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันก็ยังไม่สามารถอุดหนุนเงินครอบคลุมค่าใช้จ่ายบุคลากรหรือครูให้กับพวกเขาได้เลยด้วยซ้ำ เพราะเงินอุดหนุนรายหัวที่อุดหนุนกันนั้น ครอบคลุมแค่ค่าดำเนินการเท่านั้น

“เห็นด้วยถ้าจะนำเงินกู้ส่วนหนึ่งไปช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับผู้ปกครองในยามวิกฤตด้วยการอุดหนุนค่าเทอมบางส่วนให้กับแต่ละโรงเรียน แนวทางนี้คิดว่าอาจจะเป็นทางออกของเรื่องนี้ได้” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

นอกจากนี้ นางสาวศิริกัญญา ยังได้กล่าวถึงประเด็นการเรียนออนไลน์ว่า “เป็นเทอมที่ 3 แล้ว ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ จึงขอสอบถามถึงการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานว่าได้มีการเตรียมอุปกรณ์ เตรียมความพร้อมให้กับครูและผู้เรียนอย่างไรบ้าง เพราะจากที่ดูจากงบประมาณที่ตั้งมายังไม่ค่อยเห็นรายการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ มีแต่รายการที่ใช้สำหรับอบรมวิธีการสอนออนไลน์เท่านั้น”

“หลายที่มีการเก็บข้อมูล รวมถึงของหน่วยงานอย่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีรายงานข้อมูลมาว่า ครอบครัวที่ยากจนนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะสามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างสะดวก ด้วยความที่ขาดแคลนอุปกรณ์ แม้กระทั่งกรณีที่ไม่ได้เป็นครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก แต่หากต้องเรียนออนไลน์ผ่านทางโทรทัศน์ ถ้าในครอบครัวนั้นมีลูก 2 คนขึ้นไป ก็ทำไม่ได้แล้ว หากที่บ้านมีโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียว และยิ่งไปกว่านั้นการเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องที่ทรมาน เมื่อต้องนั่งจ้องจอมือถือที่มีจอขนาดเล็กไปนานๆ” นางสาวศิริกัญญา กล่าว

นางสาวศิริกัญญา เสริมเพิ่มเติมอีกว่า “จากผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกอย่างบริษัท McKinsey พบว่า การเรียนออนไลน์ทำให้ความรู้ของเด็กถดถอย ดังนั้นภายหลังจากที่มีการกลับมาเรียนปกติแล้ว จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูการเรียนรู้กลับคืนมา ทางหน่วยงานได้เตรียมการ เตรียมงบประมาณสำหรับใช้จัดการเรื่องนี้แล้วหรือไม่ จำเป็นต้องมีการเรียนเสริมหรือเรียนเพิ่มอะไรหรือไม่ และที่สำคัญในปีการศึกษา 2563 จำนวนวันการเรียนการสอนก็น้อยลง น้อยลงไป 10 % แล้ว โดยจากเดิมที่หนึ่งปีจะเรียนประมาณ 200 วัน จะเหลือเพียงปีละประมาณ 180 วันเท่านั้น ไม่นับว่าการเรียนออนไลน์อาจทำให้เรียนไม่ทันตามบทเรียนอีกด้วย หน่วยงานจะมีการวางแผน จัดการอย่างไร”

“ในปีนี้ทราบว่าจะเริ่มการเรียนแบบการจัดการการเรียนรู้แบบใช้สมรรถนะเป็นฐาน (Competency-based learning) เป็นปีแรก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องจากการศึกษาในระดับแนวหน้าของโลกก็เปลี่ยนมาใช้วิธีการแบบนี้กันหมดแล้ว ทั้งนี้ทางหน่วยงานได้มีการเตรียมพร้อมให้กับบุคลากรแล้วหรือไม่ เพื่อที่จะเข้าอกเข้าใจและสามารถถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้วิธีการดังกล่าวได้ เนื่องจากขณะนี้การอบรมครูก็มีการทำแบบออนไลน์เช่นเดียวกัน จึงทำให้หวั่นใจว่าหากไม่มีการเตรียมความพร้อม ก็อาจจะทำให้ล้มเหลวแบบที่เกิดขึ้นแบบในอดีตที่มีการเปลี่ยนหลักสูตร ถึงแม้ว่าหลักสูตรจะถูกออกแบบไว้ดีแค่ไหนก็ตาม หากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลทำให้เด็กๆ ต้องเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย”

Related Posts

Send this to a friend