เช็กชื่อ ส.ว.คนไหน หนุน ‘พิธา’ เป็นนายกฯ

หลังพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 309 เสียง พร้อมส่ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ 2 สภาฯ นั่นคือ 376 เสียง เท่ากับว่ายังขาดอีก 60 กว่าเสียง ที่รอให้ฝ่ายค้าน และ ส.ว.โหวตเลือก “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี สถานการณ์ขณะนี้ ส.ว.เสียงแตก มีทั้งฝ่ายที่จะงดออกเสียง ฝ่ายสงวนท่าที และฝ่ายที่สนับสนุน เนื่องด้วยเป็นฉันทามติจากประชาชน
The Reporters จึงพามาเช็กเสียง ส.ว.ที่ประกาศจะสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี
เริ่มด้วย วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกระบุว่า ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่ง ที่เคยมีประสบการณ์ปฏิบัติงานสำคัญ รับใช้ชาติบ้านเมืองมาตลอดช่วงชีวิตของการรับราชการ เคยต้องขมขี่นกับความแตกแยกขัดแย้งในบ้านเมือง ขอถือโอกาสนี้แสดงเจตนารมย์ ภายใต้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมือง ที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ได้ทำหน้าที่ นายกรัฐมนตรี
วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ก่อนหน้านี้มีทีท่าคล้ายกับจะไม่สนับสนุนตามมติเสียงข้างมากของประชาชน แต่ล่าสุดโพสต์ขอความผ่านเฟซบุ๊กว่า จุดยืนไม่เปลี่ยน ขอทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าสิ่งที่โซเชียลเอาไปปะติดปะต่อ จับแพะชนแกะ เหมือนกับผมพูดให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านนั้น แล้วก็เอาคำพูดบางตอนมาตัดต่อขยายความกันไปสารพัด พูดมันส์ปากกันไปเรื่อยเปื่อย ขอยืนยันว่าไม่ใช่ความจริง เพราะกว่าจะมาถึงข้อความนั้นมันเป็นคำอธิบายว่า ถ้าโหวตแล้วพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ก็เป็นไปตามที่เสียงส่วนใหญ่โหวตให้ แต่ถ้าโหวตแล้วไม่ผ่าน ไม่ได้เป็น ก็ต้องให้คนอื่นเขาจัดตั้งรัฐบาลต่อไป พรรคก้าวไกลก็ไปเป็นฝ่ายค้าน เป็นไปตามครรลองขอรัฐธรรมนูญตามหลักการปกติ เป็นคำอธิบายในหลักการทั่วๆไป ไม่ได้ไล่ให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ใส่สีตีไข่ไปกันใหญ่ แล้วการตัดต่อเสียงก็ไม่ได้ตัดมาให้ครบถ้วนมาตั้งแต่ต้น คนก็ไปฟังบางส่วนบางตอนเลยเข้าใจผิดกันไปใหญ่
โดยส่วนตัวของผมยืนยันว่า
1.ใครรวมเสียงส.ส.ได้ข้างมากก็โหวตให้คนนั้น
2.เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
3.เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า “รับฟังเสียงของประชาชนแน่นอน พร้อมโหวตสนับสนุนนายกฯ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ที่มาจาก ส.ส.ที่รวมกันได้เกินกว่า 250 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืน”
เฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ ไทยแลนด์วานนี้ว่า ส่วนตัวตั้งใจโหวตให้พรรคที่ได้เสียงเกิน 250 เสียงของ ส.ส. ขึ้นไปอยู่แล้ว แต่ประเมินว่า 4 ปีที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล จะต่อล้อต่อเถียง ไม่เคารพ ส.ว. ดังนั้นที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล หรือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลจะมาประสานกับ ส.ว. ไม่ต้องมา ไม่ได้อยู่แล้ว อีกเรื่องที่เป็นปัญหา คือ การแก้กฎหมายมาตรา 112 ส.ว.ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการกระทำที่กระทบสถาบัน ถ้าแตะ ส.ว.ไม่เอาด้วย ทั้งนี้ ส.ว.ส่วนใหญ่มีวิป ส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางเดียวกันหมด แต่ตนเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่โหวตไปในทางเดียวกัน ส.ว.ที่ไม่โหวตตามกลุ่มมีประมาณ 20 คน โหวตลงกันจริง ๆ เหลือ 5 คนได้
ซากีย์ พิทักษ์คุมพล สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยกับ The Reporters ว่าให้เป็นไปตามฉันทามติของประชาชนที่เลือกพรรคการเมือง ให้เกียรติพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ไม่มีทางเลือกอื่น อย่าไปตั้งธง ขอให้เอาหลักการเป็นตัวตั้ง จะเป็นการถอดสลักความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาร่วม 2 ทศวรรษตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 พร้อมเรียกร้องไปยังสมาชิกวุฒิสภา ให้ยืนตามหลักการรัฐสภา ต้องให้พรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน หากไม่ได้ค่อยเป็นพรรคถัดไป ตามหลักกติกาสากล
อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “สานพลังสร้างไทย” ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 สะท้อนเจตนามหาชนชัดเจนแล้ว จากนี้ไป ควรปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ไม่ว่าใครก็ตาม อย่าได้แทรกแซงไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด ร่วมกันสานพลังสร้างชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่าย จะดีกว่า ประเทศไทยถึงจะไปต่อได้
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยถึงหลักการเลือกนายกรัฐมนตรี หากใครก็ตามที่สามารถรวมเสียง ส.ส.ได้มากกว่า 250 เสียง ก็จะโหวตให้ฝ่ายนั้นทันที ชัดเจนมาตลอดว่า อยากจะปิดสวิตช์ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ เพราะมองว่า ส.ว.ไม่ควรไปข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา ก็ขอเคารพมติประชาชน ประกาศจุดยืนสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี