‘เรืองไกร’ ส่งหลักฐานด่วนถึง กกต.สอบ ‘พิธา’ เข้าข่ายผิดมาตรา 132

‘เรืองไกร’ ส่งหลักฐานด่วนถึง กกต.สอบ ‘พิธา’ เข้าข่ายผิดมาตรา 132 รู้อยู่แล้วขาดคุณสมบัติ แต่ยังลงเลือกตั้ง แจงที่ผ่านมาร้องเอง ไม่เกี่ยวข้อง ‘นิกม์-ภานุวัฒน์’
วันนี้ (15 มิ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นำส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมผ่านทางไปรษณีย์ (EMS) เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำไปประกอบการตรวจสอบกรณีแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 151
โดยสิ่งที่ส่งมาด้วยเป็นสำเนาเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล หัวข้อ “คนโกงวงแตก ก้าวไกลชำแหละเพิ่ม ขบวนการปลุกผี ITV” กรณีนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล จี้ให้ผู้บริหารบริษัท ไอทีวี และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เร่งชี้แจงคลิปวิดีโอรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นที่ขัดแย้งกับเอกสารรายงานการประชุม โดยข้อความตอนหนึ่งมีการตั้งข้อสังเกตถึงนายนิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่อาจวางแผนให้นายภานุวัฒน์ ขวัญยืน ซึ่งเป็นผู้รับโอนหุ้นบริษัท ไอทีวีจาก นายนิกม์ ตั้งคำถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้ผู้บริหารตอบว่า ไอทีวียังดำเนินกิจการสื่ออยู่หรือไม่
ทั้งนี้หลังก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นสองวัน นายนิกม์ โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กว่า มีนักการเมืองถือหุ้นไอทีวีอยู่ 42,000 หุ้น ภายหลังจัดทำรายงานการประชุมออกมานายเรืองไกร ได้นำเอกสารนี้ไปใช้เป็นหลักฐานเพื่อยื่นร้องต่อ กกต.ในวันที่ 10 พ.ค.66
โดยนายเรืองไกร ชี้แจงในเอกสารว่า ข้อความบางส่วนที่กล่าวถึงตนเองนั้น มีความคาดเคลื่อนไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่มีพยานหลักฐานใดมากล่าวอ้าง โดยการยื่นคำร้องต่อ กกต.ที่ผ่านมาทำโดยลำพัง ไม่ได้ร่วมกระทำกับผู้ใดเลย
นอกจากนี้นายเรืองไกร ยังได้ยื่นแบบหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส. 4/20) และหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (ส.ส. 4/30) ให้ กกต.พิจารณาด้วย ซึ่งท้ายหนังสือมีการระบุข้อความ ขอรับรองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยหนังสือทั้งสองฉบับ นายพิธาจะต้องลงนามรับรองไว้แล้ว
นายเรืองไกร ชี้ว่ากรณีนี้อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 132 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า ผู้สมัครใดกระทำเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม ซึ่งหมายความว่า รู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติแต่ยังลงเลือกตั้ง รวมถึงยังมีการรับรองให้ผู้สมัครคนอื่น ๆ ของพรรค ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย
นายเรืองไกร ยังย้ำถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ได้บัญญัติไว้ว่า บุคคลผู้มีลักษณะเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. รวมถึงยังมีบทบัญญัติมาตราอื่นๆ ที่นำมาตรา 98 (3) มาเป็นลักษณะต้องห้ามของคณะรัฐมนตรี วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) จะไม่ได้บัญญัติเรื่อง “จำนวนการถือหุ้น” หรือการกระทำใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวาง หรือแทรกแซงการใช้สิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ แต่สามารถเทียบเคียงกับ มาตรา 184 วรรค 1 (4) และมาตรา 187 วรรค 1 ที่ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่กระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวาง หรือแทรกแซงการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ และมาตรา 187 ระบุว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด