POLITICS

‘โรม’ รับเรื่องร้องเรียนชาวอุยกูร์ 56 ราย ถูกขังลืมในห้องกัก 10 ปี

‘โรม’ รับเรื่องร้องเรียนชาวอุยกูร์ 56 ราย ถูกขังลืมในห้องกัก 10 ปี จี้ ทางการไทยต้องไม่ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน

วันนี้ (15 มิ.ย.65) นายรังสิมันต์ โรม ในฐานะคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ รับยื่นหนังสือเรื่องผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 56 คนที่ถูกกักขังอย่างไร้กำหนดตั้งปต่ปี 2558

โดยนางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน เปิดเผยว่า ชาวอุยกูร์คือ ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศจีน ถูกคุกคามกดขี่จากรัฐบาลจีน จึงตัดสินใจลี้ภัยผ่านมายังประเทศไทยเพื่อไปประเทศที่ 3 ในปี 2013 ก่อนหน้านี้ทางการไทยส่งผู้หญิงและเด็กไปยังประเทศตุรกี 1,700 คน และส่งกลับประเทศต้นทางหรือจีน 109 คน ซึ่งยังไม่ทราบชะตากรรม โดยปัจจุบันมีชาวอุยกูร์อยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองราว 56 คน ซึ่งถูกกักมาแล้วกว่า 10 ปี

จึงขอร้องเรียนผ่านคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ 2 ข้อ ได้แก่ 1.ทางการไทยต้องไม่ส่งตัวพี่น้องอุยกูร์กลับประเทศจีน 2.ต้องการให้ปล่อยตัวชาวอุยกูร์ออกมาในสถานที่เหมาะสม หรืออนุญาตให้ตั้งรกรากในประเทศที่ 3 แต่ทราบว่า ทางการไทยไม่อนุญาต เนื่องจากรัฐบาลจีนกดดันให้ไทยส่งกลับ

นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า ไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศ ชาวอุยกูร์ทั้ง 56 คนถูกกักตัวโดยไม่มีที่สิ้นสุด และไม่ได้เข้าสู่กระบวนการคัดกรองของ UNHCR โดยเมื่อปี 2015 ทางการไทยส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน 109 คน ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตย และเป็นตราบาปที่ไม่ควรถูกผลิตซ้ำ

ประเทศไทยไม่ใช่ปลายทางของชาวอุยกูร์ เพราะประเทศปลายทางคือประเทศมุสลิม เช่น ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย และมาเลเซีย ฉะนั้นไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศนั่นคือ ห้ามส่งผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตราย หรือส่งไปยังสถานที่ที่คุกคามต่อเสรีภาพ

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเองมีจุดยืนสนับสนุนแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย จากประสบการณ์ลงพื้นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู พบว่า สภาพภายในไม่พร้อมที่จะกักใครนานถึง 8 ปี หากต้องไปอยู่นาน จินตนาการไม่ออกว่า สภาพร่างกายและสภาพจิตใจจะเป็นอย่างไร ทั้งยังพบว่ามีการแยกเด็กและผู้หญิงส่งไปยังตุรกีและจีน เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมาก จึงต้องมีการเจรจาระหว่างประเทศ

ข้อเรียกร้องสำหรับชาวอุยกูร์จึงไม่ได้มากเกินไปที่รัฐบาลไทยจะสามารถทำได้ ตนเองในฐานะ กมธ.จะนำเรื่องนี้เรียนต่อประธาน กมธ.เพื่อพิจารณาร่วมกันหาทางออกต่อไปเพื่อยุติปัญหา

สำหรับกรณีที่ชาวอุยกูร์ 109 คน ถูกส่งกลับในรัฐบาล คสช.จะต้องเชิญรัฐบาลไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาหารือในขั้นกรรมาธิการถามถึง สภาพความเป็นอยู่หลังส่งกลับ แม้ไทยจะไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญา แต่ถือเป็นจารีตประเพณีที่ต้องปฏิบัติตาม หากพิสูจน์เรื่องนี้ได้ รัฐบาลไทยจะไม่ได้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจภายในประเทศเท่านั้น แต่หมายถึงภาพลักษณ์ของไทยในสายตาของต่างชาติด้วย

Related Posts

Send this to a friend