รู้จัก ‘กัณวีร์ สืบแสง’ ว่าที่ ส.ส. 1 เดียว พรรคเป็นธรรม ที่ พรรคก้าวไกล ชวนร่วมรัฐบาล
จากบทบาทนักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ทำงานด้านผู้ลี้ภัย สร้างสันติภาพมาทั่วโลก สู่การเป็นนักการเมืองอาสาสร้างสันติภาพปาตานี
เป็นที่สนใจมาทันที สำหรับ นายกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาลพรรคก้าวไกล หลังนายพิธา ลิ้มเจริญ รัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวว่าอยู่ระหว่างการติดต่อพรรคเป็นธรรม เข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคเป็นธรรม ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง คือ นายกัณวีร์ สืบแสง ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1
นายกัณวีร์ สืบแสง เป็นนักมนุษยธรรม นักสิทธิมนุษยชน ที่เชี่ยวชาญด้านสันติภาพ ผู้ลี้ภัย ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นที่รู้จักของสื่อมวลชนในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา หลังลาออกจากการทำงานในสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR มาทำงานการเมือง เริ่มต้นที่พรรคไทยสร้างไทย ก่อนจะย้ายมาพรรคเป็นธรรม ในตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ และรองหัวหน้าพรรค ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็น เลขาธิการพรรค และลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1
สำหรับประวัติการทำงาน พบว่า ก่อนมาทำงานการเมือง นายกัณวีร์ เคยทำงานสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย สำนักความมั่นคงกิจการชายแดนและการป้องกันประเทศ จังหวัดชายแดนภาคใต้ การบริหารวิกฤติการณ์ และยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดน ในปี 2546-2562 ก่อนจะไปทำงานที่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ตั้งแต่ปี 2552-2554
ประสปการณ์การทำงานด้านผู้ลี้ภัยในพื้นที่สงครามและความขัดแย้ง เป็นเวลา 12 ปี ใน 8 ประเทศ เช่นการทำหน้าที่ผู้ประสานงาน ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หัวหน้าทีมเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน เมืองยีดา ประเทศซูดานใต้ และเมืองกีวัน ประเทศฟิลิปินส์ เจ้าหน้าที่บริหารความร่วมมือและการจัดการค่ายผู้อพยพ เมืองจูบาร์ ประเทศซูดานใต้ หัวหน้าสำนักงานภาคสนาม ภาคเหนือของดาร์ฟู ประเทศซูดาน ผู้ประสานงานภาคสนาม เมืองค็อกบาร์ซา ประเทศบังคลาเทศ และหัวหน้าสำนักงานภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศเมียนมา
นอกจากนี้นายกัณวีร์ สืบแสง ยังได้ก่อตั้งมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ Peace Rights Foudation เพื่อทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย สานต่อการทำงานด้านมนุษยธรรม ด้วยการมาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา จากกรณีผู้อพยพชาวเมียนมา จากสถานการณ์สู้รบในช่วงที่ผ่านมาด้วย
นายกัณวีร์ ยังมีบทบาทในการผลักดันการช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงญา และชาวอุยกูร์ จากกรณีการถูกจับกุมด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฏหมายเมื่อปี 2557 ซึ่งขณะนั้นนายกัณวีร์ ทำงานอยู่ที่สำนักงาน UNHCR ประเทศไทย ก่อนจะไปทำงานในประเทศอื่น ในขณะที่ชาวอุยกูรณ์ กว่า 50 คน ยังถูกคุมขังในห้องกักของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเสียชีวิตไประหว่างถูกคุมขัง นายกัณวีร์ ในฐานะประธานมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการกฏหมายฯ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบและเรียกร้องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและกฏหมายกับชาวอุยกูร์ รวมถึงปัญหาผู้ลี้ภัยในเมือง รวมถึงมีข้อเสนอทางนโยบายต่อการสร้างสันติภาพในเมียนมาและการแก้ปัญหาผู้อพยพชาวเมียนมาที่ติดอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในไทยกว่า 40 ปีด้วย
ในการเลือกตั้ง ส.ส.2566 นายกัณวีร์ รับผิดชอบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พรรคเป็นธรรม ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 8 เขต ในจ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส โดยมีนโยบายเป็นที่สนใจของประชาชนในพื้นที่ ทั้งการทำงานภายใต้หลักการ มนุษยธรรมนำการเมือง สันติภาพกินได้ จังหวัดจัดการตนเอง ยกระดับกระบวนการสันติภาพ ยกเลิกกฏหมายพิเศษ ยุบ กอ.รมน.และยุบ ศอ.บต.
ระหว่างการหาเสียง กกต.เชิญผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.นราธิวาส มาชี้แจงกรณีการติดป้าย ปาตานีจัดการตนเอง ในการหาเสียง ทำให้นายกัณวีร์ ในฐานะเลขาธิการพรรค ได้มาชี้แจงและยืนยันว่า คำว่า ปาตานี ไม่ใช่คำต้องห้ามและไม่ได้เป็นภัยกับความมั่นคง แต่มีความหมายต่อการสร้างสันติภาพที่แท้จริง เพราะการยอมรับในอัตลักษณ์ วัฒนธรรม เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
ความชัดเจนในนโยบายสันติภาพปาตานี ที่นายกัณวีร์ นำเสนอ จึงเป็นที่สนใจของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงพรรคก้าวไกล ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึงในการแถลงข่าว และเชิญเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งทางนายกัณวีร์ และพรรคเป็นธรรม ก็ยินดีตอบรับเข้าร่วมรัฐบาลพรรคก้าวไกล