‘ประเสริฐ’ เผย 1 ปี ศูนย์ AOC 1441 ระงับบัญชีต้องสงสัยแล้วกว่า 340,000 เคส
‘ประเสริฐ’ เผย 1 ปี ศูนย์ AOC 1441 ระงับบัญชีต้องสงสัยแล้วกว่า 340,000 เคส ส่วนใหญ่ผู้เสียหายอยู่ในช่วงอายุ 20-49 ปี ชี้ สถิติการแจ้งความคดีออนไลน์มีแนวโน้มลดลง
วันนี้ (14 พ.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แถลงผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และภาพรวมของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) ตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปี (1 พ.ย. 66 – 14 พ.ย. 67) ณ ห้อง NT Auditorium บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)
นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีได้จัดตั้งศูนย์ AOC 1441 และเปิดรับสายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมีบทบาทและการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมาดังนี้
1. ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 จำนวน 100 คู่สาย ให้บริการแบบ One Stop Service ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถระงับ/อายัดบัญชีของคนร้าย (บัญชีม้า) ให้แก่ผู้เสียหายได้ทันทีภาย เฉลี่ยภายใน 10 นาที และส่งข้อมูลต่อให้ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
2. ศูนย์ AOC เป็นศูนย์กลางในการประสาน เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปวิเคราะห์ หาบัญชีม้าแถว 2 แถว 3 หารายชื่อผู้ขายบัญชีม้า และ คนร้ายที่เกี่ยวข้อง
3. ศูนย์ AOC ประสานงาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน หรือมาตรการสกัดบัญชีม้า ออกมาตรการจัดการซิมผีหรือซิมม้า และการจัดการเสาโทรคมนาคมหรือสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตตามเขตชายแดนที่มีการลักลอบปล่อยสัญญาณเถื่อน
สำหรับสถิติการแจ้งเหตุและผลการดำเนินงานช่วงเดือน พ.ย. 66 – ต.ค. 67 ศูนย์ AOC มีจำนวนการโทรเข้า 1,176,512 สาย ระงับบัญชีที่ต้องสงสัย 348,006 เคส กลุ่มอายุของผู้เสียหาย เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ ดังนี้
กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี 9,800 เคส มูลค่าความเสียหาย 193 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกขายสินค้า/บริการที่ไม่เป็นขบวนการ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์
กลุ่มอายุ 20-49 ปี 145,302 เคส มูลค่าความเสียหาย 8,223 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกโอนเงินเพื่อการหารายได้พิเศษ และการหลอกลงทุนออนไลน์
กลุ่มอายุ 50-64 ปี และ อายุ 65 ปีขึ้นไป คิดรวมเป็น 41,901 เคส มูลค่าความเสียหาย 7,769 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลงทุนออนไลน์
ช่องทางการหลอกลวงที่พบมากที่สุด พบว่าเป็นช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook จำนวน 26,804 เคส เสียหาย 718 ล้านบาท ตามมาด้วย Call Center มี 22,299 เคส เสียหาย 945 ล้านบาท ช่องทางเว็บไซต์ 16,510 เคส เสียหาย 1,148 ล้านบาท TikTok 994 เคส เสียหาย 65 ล้านบาท และช่องทางอื่น ๆ 20,518 เคส เสียหาย 1,262 ล้านบาท
จังหวัดที่มีการรับแจ้งเหตุและระงับบัญชีมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 84,241 ครั้ง ระงับบัญชี 48,558 บัญชี จังหวัดสมุทรปราการ 17,853 ครั้ง ระงับบัญชี 10,968 บัญชี และจังหวัดนนทบุรี, ชลบุรี, ปทุมธานี ตามลำดับ ส่วนสถิติการแจ้งความคดีออนไลน์ มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะเดือน ส.ค. และ ก.ย. 67 แจ้งความคดีออนไลน์ 32,266 และ 29,579 คดี ลดลงจากช่วง พ.ค – ก.ค. 67 ที่มีจำนวนเฉลี่ย 35,000 คดีต่อเดือน