POLITICS

4 ว่าที่ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ค้านขยายสัญญา สัมปทานสายสีเขียว 30 ปี

4 ว่าที่ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ค้านขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียว 30 ปี หนุนทำค่าโดยสาร ราคาถูก – ตั๋วร่วม

วันนี้ (14 ก.พ. 65) ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครทั้ง 4 คน ร่วมเสวนาออนไลน์ ในประเด็นปัญหาการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยทั้งหมดคัดค้านการขยายสัมปทานให้เอกชนไปอีก 30 ปี พร้อมหนุนการจัดทำค่าโดยสาร ราคาถูก จัดทำตั๋วร่วม เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 10 สายราคาเดียว และไม่เห็นด้วยรัฐบาลชิงดันเรื่องนี้เข้า ครม.อีกครั้ง

การเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “รถไฟฟ้าต้องถูกลง ทุกคนต้องขึ้นได้ ผู้ว่า กทม. ช่วยได้หรือไม่” จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่า กทม. 4 คน คือ นางรสนา โตสิตระกูล ว่าที่ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ผู้สมัครอิสระ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ผู้สมัครอิสระ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. จากพรรคก้าวไกล เข้าร่วม 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส ในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาตั้งแต่มีการว่าจ้างให้เอกชนเดินรถส่วนต่อขยาย ไปจนถึงปี 2585 โดยใช้อำนาจพิเศษ และไม่มีใครเคยเห็นสัญญา และมีความพยายามที่จะมีการขยายสัมปทานไปอีก 30 ปี ถึงปี 2602 มีการกำหนดราคา สูงสุด 65 บาท โดยไม่ผ่านกระบวนการ กฎหมาย พรบ.ร่วมทุนฯ ทำให้มีปัญหาความโปร่งใสตั้งแต่ต้น 

นายชัชชาติได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว 5 ข้อ ได้แก่ 

1. ต้องไม่มีการขยายสัมปทานให้เอกชน ที่จะเป็นภาระให้แก่คนรุ่นไปอีก 1 เจนเนอเรชั่น และนำกลับมาสู่กระบวนการกฎหมายร่วมทุน 

2. กทม. ต้องเร่งเจรจาแก้ปัญหาหนี้ค่าจ้างเดือนรถ และภาระหนี้จากการรับโอนโครงข่าย 100,000 ล้านบาท โดย กทม. ไม่ควรเข้าไปแบกรับภาระการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียว เพราะที่ผ่านมารถไฟฟ้าเส้นอื่นๆ รัฐบาลก็รับภาระค่าก่อสร้างงานโยธา 

3. ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปเรื่องค่าโดยสารส่วนต่อขยายทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ซึ่งเปิดวิ่งมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่มีความชัดเจนเรื่องการเก็บค่าโดยสาร 

4. ต้องเอาสัญญาค่าจ้างเดินรถ ถึงปี 2585 มาเปิดเผยเพื่อให้รู้ต้นทุนที่แท้จริง นำไปสู่ การคำนวณค่าโดยสารที่ถูกต้อง หลังหมดสัญญา สัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสในปี 2572 และ 

5. ต้องนำเส้นทางทั้งหมดมาจัดหารายได้ เช่นค่าโฆษณาในสถานีตามแนวเส้นทางสายสีเขียว ทั้งนี้นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวนั้น สามารถดำเนินการได้ในอนาคต สามารถจัดเก็บได้ในราคา 25 – 30 บาท/คน

ส่วน นางรสนา โตสิตระกูล ว่าที่ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. อิสระ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องไม่มีการขยายสัมปทานให้เอกชน เนื่องจากในสัญญาสัมปทานที่จะต่อนั้นมีเงินนำส่งรายได้ที่เอกชนต้องจ่ายให้ กทม. 200,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นค่าต๋ง ซึ่งเป็นที่มาที่ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสาร 65 บาท หากตนเองได้เป็นผู้ว่าราชการ กทม. ตนจะโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียว กลับไปให้รัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลนำเอารถไฟฟ้าทุกสายกลับไปทำระบบตั๋วร่วม หรือ ตั๋วราคาเดียว เพราะที่ผ่านมาการทำโครงข่ายรถไฟฟ้า กว่า 10 เส้นทาง นำภาษีของประชาชนไปลงทุนแล้วกว่า 1 ล้านๆ บาท จึงไม่ควรนำภาระค่าโดยสารทั้งหมดผลักไปให้ประชาชน 

นอกจากนี้นางรสนายังระบุด้วยว่า เมื่อเกิดการเดินทางเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกสาย จะเสียค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว สามารถใช้บริการได้ทุกโครงข่าย ในราคาไม่เกิน 40 -45 บาท ก็จะทำให้มีผู้มีใช้บริการระบบรถไฟฟ้า เพิ่มขึ้น จากวันละ 1.2 ล้านคน เป็น 3-5 ล้านคน ในอนาคต สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการขยายสัมปทานทำให้คนรุ่นลูกต้องมาแบกรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง รวมแล้วอีก 38 ปี และที่สำคัญคือ ต้องไปดำเนินการให้ชัดเจน และทำการเจรจา 2 ส่วน คือ ไม่ไปแบกรับภาระหนี้การดำเนินการ ก่อสร้าง ส่วนต่อขยาย จาก รฟม. และไปเจรจาภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถที่มีกับเอกชน 37,000 ล้านบาท และ เงินลงทุนจัดหารถอีก 20,000 ล้านบาท โดยต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และหากจะมีการกำหนดค่าโดยสาร ให้คน กทม.ได้ประโยชน์ สามารถใช้บริการได้ ก็สามารถไปหาข้อสรุปว่า กทม.จะมีการอุดหนุนค่ารถไฟฟ้า เท่าไหร่ แต่ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส

ด้าน นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากกระทรวงคมนาคมในอดีตไม่ได้คิดวางแผนการพัฒนา เส้นทาง การจัดการเดินรถและเก็บค่าโดยสาร โดยคิดให้รอบ ด้านให้จบในครั้งเดียว พร้อมเสนอแนวคิดว่า สามารถผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคา 20 ถึง 25 บาท ให้เกิดขึ้นจริงได้ โดย กทม.สามารถออกพันธบัตร โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อระดมทุนมาแก้ภาระหนี้ 30,000 ล้านบาท เพื่อนำรายได้มาแก้ไขปัญหาหนี้ของ กทม. และค่าจ้างเดินรถในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่า กทม. ทุกคนยังระบุด้วยว่า รัฐบาลไม่ควรเร่งรัดดำเนินการนำเรื่องการขยายสัมปทานกับเอกชนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากกว่าจะหมดอายุสัมปทานยังมีเวลาอีก 8 ปี และควรรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้

Related Posts

Send this to a friend