POLITICS

ศรีสุวรรณ ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด ‘ประภัตร’ ดูแลกรมปศุสัตว์ผิดพลาด ปกปิดการระบาด ASF

วันนี้ (14 ม.ค. 65) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้สอบเพิ่ม เอาผิดนาย ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ผิดพลาด ล้มเหลว ปกปิดการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF เป็นเหตุให้หมูขาดตลาด จนราคาแพงขึ้นมาในปัจจุบัน

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า เนื่องจากนายประภัตร โพธสุธน มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแลกรมปศุสัตว์โดยตรง ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 1662/2562 ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มอบอำนาจหน้าที่ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีปัญหาความผิดพลาด ล้มเหลวในการบริหารจัดการเกี่ยวกับกรมปศุสัตว์เกิดขึ้น ย่อมต้องส่งผลถึงรัฐมนตรีที่กำกับดูแลที่จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

นายศรีสุวรรณ ย้ำว่า การปกปิดการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ของกรมปศุสัตว์ ทำให้หมูของเกษตรกรผู้เลี้ยงรายเล็ก รายกลางล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้หมูขาดตลาด เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้หมูแพง แต่กลับไม่มีความรับผิดชอบใดๆออกมาจากกรมปศุสัตว์ โดยรัฐมนตรีที่กำกับดูแล เพิกเฉย ยังคงเลี่ยงบาลีว่า ไม่มีการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อ ASF ทั้งๆที่ข้อมูลการเกิดโรคระบาดถูกเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูออกมาเปิดโปงว่ามเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 แล้ว จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีต้องอนุมัติเงินเยียวยาให้เกษตรกรแล้วหลายรอบ

นยศรีสุวรรณ เพิ่มเติมว่า ปัญหาการปกปิดการการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีผลประโยชน์ของชาติของประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งมี พรบ.โรคระบาดสัตว์ 2558 เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและควบคุมปัญหา โดยเฉพาะในท้องที่ใดเมื่อเห็นสมควรให้มีการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ชนิดใด อธิบดีปศุสัตว์ก็มีอำนาจที่จะประกาศกําหนดให้ท้องที่นั้นทั้งหมดหรือบางส่วนของท้องที่ต้องมีการทําเครื่องหมายประจําตัวสัตว์ สําหรับสัตว์หรือซากสัตว์ชนิดนั้น หรือรัฐมนตรีเกษตรฯ ก็สามารถที่จะประกาศกําหนดให้ท้องที่นั้นๆ หรือทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นเขตปลอดโรคระบาด หรือเขตกันชนโรคระบาดสําหรับโรคนั้นในสัตว์นั้นได้ เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดได้ รวมทั้งยังมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 396 เรื่องการห้ามทิ้งซากสัตว์ซึ่งอาจเน่าเหม็นในหรือริมทางสาธารณะอีกด้วย

แต่ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปรากฏการล้มตายของสุกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กลับไม่ปรากฏว่ากรมปศุสัตว์หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล จะใช้อำนาจดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด จึงได้ว่า เป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เข้าข่ายความผิดที่ ป.ป.ช.จะต้องเข้าไปดำเนินการไต่สวน สอบสวนเอาผิดตามครรลองของกฎหมาย

Related Posts

Send this to a friend