POLITICS

‘ชูศักดิ์’ บอก นักการเมืองไม่ใช่นักบวช ไม่ใช่พระ ยังมีข้อครหา

หลังศาล รธน. ไม่รับวินิจฉัยปมซี่อสัตย์สุจริต รับ ต้องใช้ดุลพินิจกันเอง ชี้ ต้องทำกฎหมายให้ชัดเจน

วันนี้ (13 มี.ค. 68) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องวินิจฉัยคุณสมบัติของรัฐมนตรี เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานจริยธรรม ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ตอบมาชัดเจน ซึ่งพอทราบแนวทางของศาลอยู่พอสมควร ยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาจริงในแง่ของการตีความ ที่สำคัญคือ เมื่อจะแต่งตั้งบุคคลใดต้องตรวจสอบประวัติแต่ละคน ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เช่น บางคนถูกปรับข้อหาจอดรถในที่ห้ามจอด แบบนี้ถือว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ ซึ่งแปลว่าเป็นดุลยพินิจที่กว้าง ซึ่งหลักสำคัญของประเทศคือมีนิติรัฐและนิติธรรม ที่บอกว่ากฎหมายต้องมีความแน่นอน หมายถึงไม่ต้องใช้ดุลยพินิจอะไร จึงพยายามทำเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน แต่เมื่อศาลฯไม่ตอบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้นหลังจากนี้ การจะแต่งตั้งบุคคลใดต้องใช้ดุลยพินิจกันเองว่าสมควรหรือไม่ และยอมรับว่า จะบอกว่าสุ่มเสี่ยงก็ได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่ารัฐบาลจะพิจารณาคุณสมบัติอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแพทองธาร 1 หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาใช้วิธีให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตรวจสอบในเบื้องต้น ที่อาจมีการสอบถามไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ทั้งหมดยังไม่จบ เพราะในเมื่อเป็นดุลยพินิจก็จะเป็นปัญหาตามมาจึงเป็นเรื่องของคนที่ต้องรับผิดชอบจะต้องชั่งน้ำหนักดูว่าเป็นอย่างไร

เมื่อถามอีกว่าหากมีรายชื่อบุคคลใดแล้วสังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยหรือตั้งคำถามจะสามารถแต่งตั้งได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อไม่มีเกณฑ์ตายตัว ก็ต้องมาประเมินว่าแต่ละฝ่ายมีความเห็นอย่างไรและชั่งน้ำหนักกันต่อ แต่ท้ายที่สุดคนที่แต่งตั้งก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนคนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีหากอยากให้ชัวร์จะต้องมีประวัติที่ใสสะอาดเลยหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา นายชูศักดิ์ ระบุว่า เรื่องนี้ต้องพูดตรงไปตรงมาว่าประเทศไทยการเมืองมาแบบนี้ มีพรรคการเมือง ซึ่งนักการเมืองไม่ใช่นักบวช ไม่ใช่พระ เพราะขนาดพระก็มีข้อครหาอยู่พอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดยากก็ต้องดูกันเอาจนกว่าจะทำการเมืองให้ใสสะอาด การเมืองมาถึงจุดนี้ก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นอย่างไร จะพัฒนาการเมืองให้ดีขึ้นอย่างไร

เมื่อถามอีกว่าจะเป็นบรรทัดฐานของการเมืองไทยว่าคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีต้องมีประวัติใสสะอาดหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เขาถึงเรียกรัฐธรรมนูญปราบโกง เรามาเขียนเรื่องนี้ไว้ ซึ่งส่วนตัวเคยบอกว่า หากจะคิดแบบนั้นก็ว่ากันไป แต่หลักสำคัญคือควรมีมาตรฐานที่ชัดเจน กฎหมายต้องแน่นอน ต้องไม่เปิดโอกาสให้ตีความกันหลายทาง และ คิดว่า จะต้องไปพูดคุยกัน ถ้ามีโอกาสในการแก้รัฐธรรมนูญก็เอาเรื่องนี้ไปพูดคุย ตนไม่ได้หมายความว่าจะลดอันนี้ แต่อยากทำให้ชัดเจนแน่นอน พร้อมยอมรับว่าคาดหวังกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ใช่การยื่นแก้ไขรายมาตราแล้ว

ส่วนการที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งสัญญาณมาเช่นนี้ จะกระทบเหตุการณ์ในวันจันทร์ที่ 17 มี.ค. ที่รัฐสภาจะขอมติ ให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อนการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แตกต่างกัน เนื่องจากประธานรัฐสภา บรรจุวาระ และเกิดความขัดแย้ง เนื่องจากสส.ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย โดยมองว่าประธานสภาฯไม่มีอำนาจบรรจุ และถือเป็นคนละกรณีกับกรณียื่นถามเรื่องมาตรฐานจริยธรรม พร้อมกับมองว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะรับวินิจฉัยเรื่องการทำประชามติ

Related Posts

Send this to a friend