POLITICS

‘สมศักดิ์’ ไม่ถอย ชง อย. คิดสูตรสารสกัดในผลิตภัณฑ์กระท่อมใหม่

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้าการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงาน เร่งรัด ส่งเสริมและสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางที่ผลิตจากพืชกระท่อม โดยมี นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เภสัชกร วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้ประกอบการพืชกระท่อม เช่น นายจุลาส หรือ ทอม เครือโสภณ ,บริษัทเกษตรศิวิไลซ์ จำกัด ,บริษัทเคดับบลิวเอชบี จำกัด ,วิสาหกิจชุมชน เฮิร์บเวลเนส เข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตัวแทนผู้ประกอบการ ต้องการทราบมาตรฐานกลางในการกำหนดสารไมทราไจนีน ในผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม เพราะขณะนี้กำหนดไว้เพียง 0.2 มิลลิกรัมต่อหน่วยเท่านั้น แต่ใบกระท่อม 1 ใบ มีสารไมทราไจนีนประมาณ 1.2-1.6 มิลลิกรัม ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุน เพราะไม่สามารถออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วเห็นผลได้ ผู้ประกอบการจึงอยากเข้ามาช่วย อย. ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อกำหนดมาตรฐานกลางให้สูงขึ้น แต่อยู่ในระดับความปลอดภัย

“เรื่องการกำหนดมาตรฐานกลาง ได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อสังเกตของ กมธ. ทั้ง 3 คณะ ทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และ กมธ. ที่เห็นสมควรส่งเสริมให้มีการ ให้เป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.พืชกระท่อม ด้วยการทำเป็นผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม โดยให้ปรับสัดส่วนมาตรฐานสารสกัดให้มีความเหมาะสม เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ซึ่งเรื่องนี้ ตนก็ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยก็จะมีการบูรณาการร่วมกันต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้แทนผู้ประกอบการพืชกระท่อม เสนอว่า หากยึดตามข้อกำหนด 0.2 มิลลิกรัมต่อหน่วย จะไม่สามารถช่วยเกษตรกรที่เพาะปลูกกระท่อมได้เลย เพราะจากการทดลองสกัดกระท่อมใบสด 6 กิโลกรัม จะได้กระท่อมแห้ง 1 กิโลกรัม นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ถึง 25,000 ขวด ซึ่งใช้ใบกระท่อมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็สามารถทำผลิตภัณฑ์ได้จำนวนมากแล้ว ดังนั้น เกษตรกรจะอยู่ได้ยังไง จึงอยากให้มองภาพอีกมุมด้วยในการกำหนดมาตรฐานกลาง เพราะถ้ากำหนดค่าสูงขึ้น ก็จะต้องใช้ใบกระท่อมมากขึ้นตามไปด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตยได้เสนอให้ อย. เริ่มคิดสูตรทดลองใหม่ ซึ่งให้ใช้ปริมาณน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม ที่เริ่มพบปัญหาในตับ โดยให้ทดลองตั้งแต่ 40 มิลลิกรัมลงมา จนเหลือ 25 มิลลิกรัม ก็น่าจะไม่พบความผิดปกติแล้ว เพราะขนาดปริมาณ 50 มิลลิกรัม ยังพบผิดปกติเพียงข้อเดียว คือ การเปลี่ยนแปลงทางจุลพยาธิวิทยา ดังนั้น การทดลองปริมาณ 25 มิลลิกรัม ก็ไม่น่ามีปัญหา จะทำให้เมื่อคำนวณตามสูตรแล้ว สารไมทราไจนีนจะสามารถเพิ่มเป็น 1 มิลลิกรัมต่อหน่วยได้ ก็จะเพียงพอต่อการทำเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว

ทั้งนี้ ตนได้ให้ ป.ป.ส. เป็นหน่วยงานหลัก ในการหางบประมาณและดึงภาคเอกชน เข้าไปศึกษาสนับสนุนการทำทดลองการใช้สารสกัดใบกระท่อมกับสัตว์แล้ว คาดว่าใช้เวลา 3-6 เดือน เมื่อได้ผลทดลอง ทาง อย. ก็พร้อมพิจารณาปรับสารไมทราไจนีนขึ้นให้ทันที เพราะทุกคนเริ่มเห็นว่า สารไมทราไจนีนไม่ควรต่ำกว่า 1 มิลลิกรัม เท่ากับจะเป็นการปลดล็อกให้ผู้ประกอบการสามารถไปแข่งขันกับตลาดโลกได้

Related Posts

Send this to a friend