POLITICS

สำรวจความพร้อม ’ศรีสะเกษ‘ การเปิดจุดผ่อนปรน ไทย – กัมพูชา ในรอบกว่า 16 ปี

สำรวจความพร้อม ’ศรีสะเกษ‘ การเปิดจุดผ่อนปรน ไทย – กัมพูชา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ผ่านช่องทางขึ้นเขาพระวิหาร ในรอบกว่า 16 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำคณะรัฐมนตรีจากกระทรวงในการกำกับหลายกระทรวงลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เป็นช่วงเวลาที่ประเด็นการเจรจาเพื่อเปิดจุดผ่อนปรนเพื่อการท่องเที่ยวช่องทางขึ้นเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง และอยู่ในความสนใจของประชาชนในวงกว้างอีกครั้ง โดยเฉพาะคนในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษที่เฝ้ารอโอกาสนี้มานาน เพราะหมายถึงการได้กลับมาไปมาหาสู่ของคนทั้ง 2 ประเทศ ที่ในระดับพื้นที่เองเรียกว่ามีความสัมพันธ์อันดี แนบแน่น และเป็นโอกาสของการกลับมาฟื้นฟู เศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว ที่ซบเซาไปเป็นเวลากว่า 16 ปี นับแต่ปี 2551 ที่มีปัญหาความขัดแย้ง และปิดจุดผ่อนปรนฯ

ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสสำรวจความพร้อมของภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัดศรีสะเกษตั้งแต่ระดับนโยบาย ไปจนถึงเอกชนผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ พบว่าแต่ละภาคส่วนมีความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

อนุพงษ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ

นายอนุพงษ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าทางจังหวัดศรีสะเกษได้ติดตามประเด็นการเปิดจุดผ่อนปรนฯ จากระดับนโยบายของรัฐบาล และดำเนินการเตรียมความพร้อมโดยมีการประชุมส่วนราชการ และหน่วยงานความมั่นคง ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย ซึ่งขณะนี้ถือว่าในพื้นที่มีความพร้อมในทุกด้านทั้งการบริหารจัดการ จำนวนบุคลากรสนับสนุนกรณีที่ระดับนโยบายของทั้ง 2 ประเทศ บรรลุข้อเจรจาได้สำเร็จ

จิตร อาจสัญจร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร

ด้านนางจิตร อาจสัญจร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดศรีสะเกษได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อม ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ด่านตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ศุลกากร อุทยานฯ ซึ่งการหารือของทุกฝ่ายตอนนี้มองว่าในระดับพื้นที่มีความพร้อมหมดแล้ว รอเพียงระดับนโยบายเท่านั้น

ในส่วนของอุทยานฯ เรามีการเตรียมการในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มีการพูดคุย ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการร้านค้าที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 40 ราย รวมถึงดูแลจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวบนอุทยานฯ ให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว คาดว่าถ้ามีการกลับมาเปิดจุดผ่อนปรนฯ จะช่วยให้จำนวนนีกท่องเที่ยวกลับเข้ามาเหมือนอดีตที่เคยสูงสุด 5-7 แสนคนต่อปี จากปัจจุบันในช่วงที่ยังปิดจุดผ่อนปรนฯ จะมีนักท่องเที่ยวคนไทยขึ้นมาเที่ยวอยู่ประมาณ 1.7-2.2 แสนคนต่อปีและอุทยานฯ จัดเก็บรายได้จากค่าเข้า และค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้ประมาณ 7-10 ล้านบาทต่อปี

สวัส ลุนผง หัวหน้าฝ่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร

ขณะที่ นายสวัส ลุนผง หัวหน้าฝ่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร กล่าวว่า ส่วนตัวได้รับมอบหมายให้ดูแลงานที่เกี่ยวกับจุดท่องเที่ยวในอุทยานฯ มาตั้งแต่ปี 2539 อยากเห็นจุดผ่อนปรนฯ กลับมาเปิดอีกครั้ง เพราะจะส่งผลโดยตรงกับรายได้ของคนในพื้นที่ โดยเศรษฐกิจของ อ.กันทรลักษ์ และพื้นที่ต่อเนื่องกันจะดีขึ้นทันที เห็นได้จากจากข้อมูลโดยปกติที่รายได้ของชุมชนที่เกิดต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาบนอุทยานฯ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พัก พาหนะเดินทาง ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก จะอยู่ที่ประมาณ 15 เท่า ของรายได้ที่อุทยานฯจัดเก็บได้ เช่น ปัจจุบันที่อุทยานจัดเก็บรายได้ได้ประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี ก็สร้างรายได้ต่อเนื่อง 150 ล้านบาท ซึ่งหากจุดผ่อนปรนฯ กลับมาเปิดอีกครั้ง รายได้ต่อเนื่องจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

สำหรับส่วนของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ บนอุทยานฯ ตอนนี้ถือว่ามีความพร้อมในทุกจุด ซึ่งทางอุทยานฯ เองอยากให้นักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยว เพราะที่นี่มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม อย่างผามออีแดง จุดชมพระอาทิตย์ที่สวยที่สุดจุดหนึ่งของประเทศ หรือที่เรียก จุดชมพระอาทิตย์ขึ้น 3 แผ่นดิน เนื่องจากบริเวณผามออีแดงจะสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นในบริเวณ “สามเหลี่ยมรวงผึ้ง” ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ ไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว และยังเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงามมากในฤดูฝน ตลอดจนเป็นจุดชมดาว ที่สามารถมองเห็นทางช้างเผือกในช่วงเดือนต.ค.-เม.ย. ของทุกปี ซึ่งทางอุทยานฯ ได้จัดกิจกรรมดูดาวให้กับผู้สนใจด้วย สามารถติดต่อมายังสำนักงานอุทยานฯ โดยจะมีวิทยากรคอยแนะนำการดูดาว การใช้แอปพลิเคชั่นในการสนับสนุนการดูดาวได้ด้วยตนเอง

อีกทั้ง ในพื้นที่อุทยานฯ ยังเป็นที่ตั้งของแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ อารยธรรมที่น่าสนใจ เช่น ปราสาทโดนตวล ที่ประวัติการก่อสร้างมีความเก่าแก่ใกล้เคียงกับปราสาทนครวัด และรายละเอียดของตัวปราสาทยังเป็นแหล่งเรียนรู้อารยธรรมมากมาย รวมไปจนถึงสถูปคู่ ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับปราสาทโดนตวล และ ภาพแกะสลักนูนต่ำ อยู่บริเวณผาอีมอแดง ที่คาดว่าเป็นการภาพที่ช่างได้แกะเป็นต้นร่าง ก่อนจะแกะสลักจริงบนเขาพระวิหาร มีรายละเอียดให้ศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสนใจในอารยธรรมโบราณ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า จากการลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติพระวิหาร พบว่า ทั้งส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการมีการเตรียมการลงทุนเพื่อรองรับภาคการท่องเที่ยว โดยชาวบ้านในพื้นที่รายหนึ่ง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า มีผู้ประกอบการได้เริ่มงานก่อสร้างรีสอร์ท ที่พัก ตามเส้นทางขึ้นอุทยานฯ แล้ว และส่วนของบ้านภูมิซรอล ซึ่งเป็นชุมชนก่อนจะขึ้นไปยังอุทยานทางท้องถิ่นก็มีการพัฒนาจุดพักรถ ร้านค้าขายสินค้าท้องถิ่น และของที่ระลึกแล้ว

(ซ้าย) วิชยุติ ธรรมาบุญ (ขวา) วันปิติ สีหาพงศ์ ผู้บริหาร “ปิติ ฟาร์ม” (Piti Farm)

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสพูดคุยกับ “วันปิติ สีหาพงศ์” หรือ ฝายน้ำ และ วิชยุติ ธรรมาบุญ หรือ เติ้ล คู่รักคนรุ่นใหม่ ที่เป็นลูกหลานคนศรีสะเกษ ที่ตัดสินใจทิ้งงานเอเยนซี่ที่กรุงเทพฯ กลับมาทำธุรกิจที่บ้าน ซึ่งทั้งคู่และครอบครัวช่วยกันเปิดรีสอร์ทแนวแคมปิ้ง ชื่อ “ปิติ ฟาร์ม” (Piti Farm) มีที่ตั้งอยู่ในที่ดินของครอบครัวบริเวณแนวถนนขึ้นอุทยานฯ ซึ่งที่ผ่านจะมีลูกค้าเข้าพักในช่วงไฮซีซัน คือ ปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปี และส่วนใหญ่จะรู้จักและจองเข้ามาผ่านเพจ เฟซบุ๊ค “ปิติฟาร์มมิลี่ Cafe & Glamping – ผามออีแดง” ทั้งคู่ยอมรับว่าติดตามข่าวคราวการเตรียมเจรจาเพื่อเปิดจุดผ่อนปรนฯ อย่างใกล้ชิด และอยากให้ระดับนโยบายเจรจากันได้สำเร็จ เพราะจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่คนคนในพื้นที่ดีขึ้นมาก และส่วนของปิติ ฟาร์ม เอง จากเดิมที่มีลูกค้าหนาแนนเฉพาะช่วงไฮซีซัน และช่วงที่ผลไม้ชื่อดังของท้องถิ่นอย่างทุเรียนภูเขาไฟออก ก็น่าจะได้รับประโยชน์ ได้ตลาดนักท่องเที่ยวที่จะมามากขึ้น มีผู้เข้าพักตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของเสียงสะท้อน คนในพื้นที่ทั้งระดับนโยบาย เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ และประชาชน ที่มีการเตรียมตัวพร้อมกับติดตามเฝ้ารอการกลับมาเปิดจุดผ่อนปรนช่องทางขึ้นเขาพระวิหารอีกครั้ง

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat