‘ชัยธวัช’ ตั้งกระทู้ถาม รัฐบาลควรทบทวนประชามติล็อคไม่แก้หมวด 1 – หมวด 2 หรือไม่
‘ชัยธวัช’ ตั้งกระทู้ถาม รัฐบาลควรทบทวนประชามติล็อคไม่แก้หมวด 1 – หมวด 2 หรือไม่ ด้าน ‘ภูมิธรรม’ สวน ‘ก้าวไกล’ หมกหมุ่นอยู่เรื่องเดียว ชี้ ควรปล่อยผ่านร่วมสถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แจง ปม ‘ทักษิณ’ เป็นไปตามกฎหมาย
วันนี้ (11 ม.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา นายชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ตั้งกระทู้ถามสด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยได้มอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาแทน ถึงการดำเนินการนโยบายเร่งด่วน 2 เรื่อง คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเรื่องการฟื้นฟูระบบนิติรัฐ นิติธรรม ที่เข้มแข็ง
นายชัยธวัช ถามว่า คณะกรรมการศึกษาประชามติรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลตั้งไว้ ได้ข้อสรุปไปยังรัฐบาลแล้ว และจะพิจารณาการจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เร็ว ๆ นี้ โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอทำประชามติ 3 ครั้ง และถามในครั้งแรกเพียงคำถามเดียวว่า เห็นชอบหรือไม่ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ในฐานะพรรคก้าวไกลเห็นด้วยอย่างเต็มที่ ที่จะทำแล้วธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยคำถามที่จะเสนอให้พิจารณามีข้อท้วงติงที่เราต้องพิจารณา ประเด็นแรกคือคำถามที่เสนอขัดต่อหลักกการสำคัญที่ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่ต้องยกเว้นว่าทำฉบับใหม่ก็ได้ แต่ห้ามทำใหม่ทั้งฉบับ จึงเกิดเป็นคำถามว่าผู้ที่จะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับจะมีแค่คณะรัฐประหารใช่หรือไม่ ประเด็นต่อมาคือพรรคก้าวไกลครดหวังว่า กระบวนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากว่า 10 ปี แสวงหาฉันทามติใหม่ร่วมกันได้ผ่านเวทีการถกเถียง เราไม่เชื่อว่าจะมีความเห็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ในนี้เพียงฝ่ายเดียว ต้องมีฝ่ายได้ และเสีย เราต้องยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันแม้จะไม่เห็นด้วยทั้งหมด ดังนั้น การทำประชามติแบบนี้ทำให้ประชาชนบางส่วนรู้สึกว่าถูกกีดกันออกจากการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ตั้งแต่วันแรก ประเด็นที่สาม คำถามแบบนี้มีปัญหาเพราะกังวลเกินจำเป็น ที่อาจสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาด้วย
“การแก้ไข หมวด 1 หมวด 2 มีการเปลี่ยนแปลงตลอดอยู่เสมอไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร ซึ่งครั้งนี้กำลังสร้างความกลัวทางการเมือง และความเข้าใจผิดทางการเมือง ว่าการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 เป็นเรื่องอันตรายที่จะไปกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นายชัยธวัช กล่าว
ประเด็นที่สี่ คือการทำรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. แม้รัฐบาล อ้างว่าต้องทำรัฐธรรมนูญที่ให้ผ่านได้ง่ายที่สุด แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีใครล็อคการแก้ไขหมวดหนึ่ง หมวดสอง การตั้งคำถามแบบนี้จะเป็นการวางยาให้ตัวเอง สว. อาจไม่เห็นด้วยที่ไม่ให้ ส.ส.ร. มีส่วนร่วมในการทำรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จะทำอย่างไร การล็อคหมวด 1 หมวด 2 ไว้ อาจทำให้คนเห็นต่างมากกว่า เนื่องจากเราไม่รู้ว่าจะมีคนเห็นด้วยกี่คน และสุดท้ายจะกลายเป็นการถกว่าเราเห็นด้วยกับการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ ตนเองตั้งคำถามว่า รัฐบาล ส่วนข้อเสนอเรื่องประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการศึกษาประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า ความกังวลใจที่กล่าวมาข้างต้นเราก็กังวลใจไม่ต่างกัน เพียงแต่มุมมองความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อาจต่างกัน ปัญหาคือเราต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อให้เกิดความขัดแย้งหลายเรื่อง เป็นปัญหามาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เรายื่นแก้ไขมาหลายครั้ง หลายวิธี และทุกครั้งไม่เคยแก้ไขได้ แม้กระทั่งครั้งล่าสุดฝ่ายรัฐบาลเดิมและพรรคเพื่อไทยก็ไม่เอาหมวดหนึ่งสองที่ไม่ลงชื่อ ผลออกมาชัดเจนว่าไม่ผ่าน ซึ่งต้องดูความเป็นจริง เช่นเดียวกับที่ผ่านมาในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคอื่น ๆ ไม่สามารถร่วมมือกับพรรคท่านได้ เราคิดว่าถ้าปล่อยผ่านเรื่องนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญผ่านได้ง่ายขึ้น ซึ่งที่ประชุมสภาก็เห็นด้วย จึงเกิดการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
นายภูมิธรรม ระบุว่าสิ่งสำคัญขนาดนี้คือเราอยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 จากการสำรวจที่ผ่านมาก็ไม่เห็นด้วยกับการแตะหมวด 1 หมวด 2 ความเห็นที่แตกต่างของท่าน ถือเป็นความไม่สบายใจของคนทั้งประเทศ ทำไมถึงต้องหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทุกครั้ง คนที่กังวลใจมากที่สุดน่าจะเป็นพรรคก้าวไกล ที่นำเรื่องนี้ขึ้นมา ถ้าละเว้นเรื่องนี้ได้ เชื่อว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข และสถาปนารัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้
ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน เราต้องการความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น ตนเองได้สอบถามประชาชนทั้ง 4 ภาค ได้ความเห็นออกมาว่าไม่อยากแตะหมวด 1 หมวด 2 เพราะเขาเคารพนับถือ อยากเชิญชวนให้ท่านใช้สติ และคิดอีกครั้ง ถ้าไม่สนใจเรื่องนี้ แล้วมาทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง และแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนดีกว่า วันนี้เรื่องยังไม่ถึงรัฐบาล เพราะอยู่ในคณะกรรมการฯ เราไม่ได้ขัดขวางขัดแย้ง เราจะบันทึกความเห็นต่าง ยืนยันว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. นี้
ส่วนเรื่อง ส.ส.ร. ทำไมไม่ตั้งคำถาม ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่าต้องสอบถามประชาชนก่อน เราจึงถามคำถามเดียวให้ชัดเจนมากขึ้น และเรื่อง ส.ส.ร. ยังไม่ถึงขั้นตอนที่ต้องถาม
ด้านนายชัยธวัช ถามต่อว่า สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ก่อนและหลังการมีรัฐบาลชุดใหม่แทบไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย ปี 66 มีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองสูงขึ้น หลังจากมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็ยังมีประชาชนโดนดำเนินคดีทางการเมืองอยู่ ในคดี ม.112 มีอย่างน้อย 9 ราย มีหลักเกณฑ์การประกันตัวที่ไม่ชัดเจน การคุกคามก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง กดดันในที่พัก ที่ทำงาน ในรูปแบบต่าง ๆ ในปี 66 เกิดขึ้นในรัฐบาลใหม่ไม่น้อยกว่า 70 กรณี และรวมถึงบุคคลที่ได้รับอภิสิทธิ์ในการรับการรักษาตัวนอกเรือนจำชั้น 14 โดยทั่วไปยากมากที่จะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ขณะเดียวกัน นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงประธานสภาตามข้อบังคับข้อที่ 9 ขอประท้วงผู้กำลังถามกระทู้สดตามข้อบังคับ 69 และ 160 แต่ละกระทู้ถามได้เรื่องละไม่เกิน 3 ครั้ง และในเวลา 30 นาที ตนเองอยากให้การประชุมเป็นไปเรียบร้อย ตอนนี้เวลาได้หมดแล้ว
ประธานสภาฯ ระบุว่า เราดำเนินการด้วยดี ซึ่งเห็นว่าระยะเวลา 1 – 2 นาที สามารถผ่อนผันกันได้ และยังอยู่ในประเด็นสำคัญอยากให้ให้เกียรติกันด้วย เราปฏิบัติกันอย่างนี้ เพราะประชาชนกำลังติดตามอยู่ ผมวินิจฉัยแล้วให้ดำเนินการต่อ
นายชัยธวัช ถามต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม แม้รัฐบาลจะบอกว่าทำตามกฎหมายทุกอย่าง
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ ได้ลุกขึ้นประท้วงนายไชยวัฒนา ตามข้อบังคับที่ 71 คือคำวินิจฉัยของท่านประธานถือว่าเด็ดขาด และประธานก็วินิจฉัยแล้วแต่ยังดื้อดึง ทำไมชั้น 14 แตะไม่ได้หรือ เดี๋ยวผมจะเอาข้าวผัดกับโอเลี้ยงไปฝาก
ด้านนายไชยวัฒนา ระบุว่า ในการอภิปรายครั้งที่แล้ว ท่านวิโรจน์ เป็นคนโพล่งคำว่าสันดาน ผมยังไม่ประท้วงเลย เดชะบุญคนกรุงเทพมหานคร
นายวิโรจน์ จึงลุกขึ้นประท้วงว่า ถ้าผู้ประท้วงไม่พาดพิง ตนเองคงไม่ลุกพาดพิง แต่เมื่อครู่คนพูดคำนั้นคงส่อถึงพฤติกรรมอย่างนั้นด้วยตัวเอง และยืนยันว่าประธานวินิจฉัยแล้ว ถ้ายังไม่หยุด คำนั้นก็จะสะท้อนเข้าตัวท่านเอง
นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า รัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการคุกคามเยาวชน แต่หากมีรูปธรรมชัดเจนกระบวนการกฎหมายดำเนินการอยู่ ส่วนที่รู้สึกว่าเป็นประเด็นเกิดจากประเด็นทางการเมือง ขณะที่มีกฎหมายดำเนินการ ทุกคนต้องเคารพกฎหมายและปฏิบัติ หากไม่ทำเจ้าหน้าที่อาจมองว่าเลือกปฏิบัติ ละเมิดมาตรา 157 ดังนั้น ผมขออย่าให้ท้าทายกฎหมาย ส่วนกฎหมายที่เป็นปัญหานั้นขอให้ฝ่ายค้านมาจับมือรัฐบาลในการแก้กกฎหมายและแก้ปัญหา ผ่านกระบวนการเสวนาโดยสันติ หาทางออกร่วมกัน ลดขัดแย้งและปัญหาของสังคม
“เรื่องชั้น 14 ผมขอให้ทำความเข้าใจในกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางความเข้าใจ ทั้งนี้อย่าโยนเรื่องให้รัฐบาลและให้มองว่าเกิดความสองมาตรฐาน หากมองด้วยเรื่องจุกจิก แก้ปัญหาเพื่อคน ๆ เดียวไม่มีใครทำ การออกกฎหมายเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ ตามหลักสากล ขณะนี้อยู่ในกระบวนการ ผู้ป่วย ก็ป่วยตามที่หมอบันทึก กระบวนการที่อภิปรายนี้ไม่ถูกเพราะไม่ได้ทำเพื่อคน ๆ เดียว ขอให้เปิดให้กว้าง ไปให้ไกล ไปให้ถึงประชาชนเป็นหลัก อย่าวนเฉพาะชั้น 14” นายภูมิธรรม ชี้แจง