นบข.ไฟเขียวมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 67/68

ดันราคาสินเชื่อข้าวหอมมะลิช่วยเหลือชาวนา มอบ กระทรวงเกษตรฯ ทบทวนโครงการปุ๋ยคนละครึ่งให้เกิดความเหมาะสม ก่อนเสนอ นบข.อีกครั้ง
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ว่าที่ประขุมไฟเขียวมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 รวม 3 มาตรการ ประกอบด้วย
1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 8,362.76 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝาก 1,500 บาท/ตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน เริ่มตั้งแต่ ครม. มีมติ – 28 ก.พ. 68
เกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,500 บาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 12,000 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 10,500 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา เพื่อนำมาจำหน่ายได้
2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่เป้าหมาย 1 ล้านตัน (+0.5 ล้านตัน) วงเงิน 656.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.5% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อตั้งแต่ ครม. มีมติ – 30 ก.ย. 68
3) ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 4 ล้านตัน วงเงิน 585 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 3% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน ระยะเวลารับซื้อตั้งแต่ ครม. มีมติ – 31 มี.ค. 68
ที่ประชุมยังพิจารณาทบทวนโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เนื่องจากยังมีข้อจำกัดและข้อพิจารณาเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางการปฏิบัติ จึงมอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำกลับไปทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการให้เหมาะสม รัดกุม โดยให้คงมาตรการหรือโครงการในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนการเพิ่มระดับผลิตภาพของภาคการเกษตร ผ่านการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต ยกระดับกระบวนการผลิตและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร นำเสนอ นบข.อีกครั้ง
ส่วนการพัฒนาการผลิตข้าวให้ยั่งยืนในระยะยาว มอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการข้าวให้สมดุลกันระหว่างอุปสงค์และอุปทาน คำนึงถึงความเพียงพอในการบริโภคภายในประเทศ ต้องทำให้ชาวนาสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดี โดยรัฐบาลจะสนับสนุนด้านตลาดและการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น