POLITICS

‘เฉลิมชัย’ หวังฤดูฝนนี้ มีน้ำเก็บมากกว่าปีก่อน ย้ำ ชป. จัดการน้ำให้คุ้มค่า-กระทบเกษตรกรน้อยที่สุด

วันนี้ (9 พ.ค. 65) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2565 แก่กรมชลประทาน โดยกล่าวว่า ภาพรวมปีที่ผ่านมาถือว่าเราบริหารน้ำได้ตามเป้าตามที่วางแผนไว้

“เราไม่ใช่มีเสื้อตัวเดียวแล้วใส่ทุกพื้นที่ แต่เรามีเสื้อให้ใส่แต่ละพื้นที่ เพราะแต่ละที่มีปัญหาของตัวเอง จะต้องบริหารน้ำอย่างดีที่สุด เป็นหลักประกันให้พี่น้องประชาชนว่าท่านไม่ต้องกังวล เราบริหารจัดการน้ำโดยยึดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ดร.เฉลิมชัย เน้นย้ำว่า การบริหารจัดการน้ำที่ดีจะแก้ไขวิกฤตต่าง ๆ ทั้งภัยแล้งและอุทกภัยได้เต็มที่ กรมชลประทานก็ทำได้อย่างดี นายกรัฐมนตรีก็อนุมัติงบประมาณเพิ่มเครื่องจักรกลมาให้เรา จึงขอเพิ่มเติมว่าทำงานของกรมชลประทานก็ให้มีการติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด สามารถคาดการณ์ในอนาคตได้ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อมูลได้อย่างทั่วถึง

ดร.เฉลิมชัย กล่าวถึงสำนักชลประทานตั้งแต่ 1-17 ผ่านระบบการประชุมวิดีโอ (Video Conference) ว่าขอให้วางแผนบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด เก็บกักน้ำฝนให้ได้มากที่สุด และใช้น้ำทุกหยดให้มีคุณค่ามากที่สุด ต้นทุนน้ำของเรามีคุณค่ามากไปถึงอีก 3-5 ปีข้างหน้า ต้องดูว่าทำยังไงให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรให้น้อยที่สุด

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผ่านฤดูฝนปีนี้เราจะมีน้ำกักเก็บในพื้นที่มากกว่าปีที่ผ่านมา มีเยอะไม่เสียหาย เราจะไม่ขาดแคลนน้ำเด็ดขาด ถ้าเรายังมีน้ำผมก็สั่งให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด” ดร.เฉลิมชัย กล่าวก่อนทำพิธีกดปุ่มสัญญาณปล่อยกองคาราวานเครื่องจักรเครื่องมือ ผ่านระบบเครือข่าย (Video Conference) ส่วนกลาง ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) และส่วนภูมิภาค ณ ส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 17

นอกจากนี้ ดร.เฉลิมชัย ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเพื่อตอบข้อซักถามเพิ่มเติม เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงพายุเข้ามา 2-3 ลูก ดร.เฉลิมชัย ตอบว่า เราเตรียมความพร้อม ทั้งบุคลากรและเครื่องจักรกล เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่ประมาท เราตอบไม่ได้ว่าพยุเข้ามาเต็ม ๆ หรือเข้ามาเฉียด ๆ แต่เราต้องพร้อม 100%

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่อาจกระทบจากปัญหาน้ำเพิ่มสูงขึ้นในฤดูฝน ดร.เฉลิมชัย ตอบว่า เรามีการกำหนดพื้นที่ปลูกอย่างชัดเจน ก็ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรให้เพาะปลูกตามแผน ซึ่งจะเกิดความเสียหายน้อยที่สุด

“ไม่มีใครอยากให้ราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำ แต่หลักการตลาด อุปสงค์-อุปทาน เป็นสิ่งที่สอดคล้องกัน ถ้าเราทำงานร่วมกันได้ปัญหาก็จะไม่มี” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

Related Posts

Send this to a friend