POLITICS

กมธ.วุฒิสภา จ่อเรียกสอบข้อเท็จจริง กรณีประธาน กสทช. ระบุยังทำหน้าที่แพทย์ เข้าข่ายคุณลักษณะต้องห้ามหรือไม่

ตามที่มีการแถลงข่าวนโยบายของประธาน กสทช. และสำนักงาน กสทช. ปี 2567 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 66 ซึ่ง ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นประธานในการแถลงข่าว และได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีที่ยังทำงานรักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลอยู่หรือไม่ โดยระบุว่า

“เรื่องของผมที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้ ว่าผมยังไม่ได้ทำงานเต็มเวลาของ กสทช. ผมยังเป็นหมอผมยังเป็นอาจารย์อยู่ อันนี้เป็นเรื่องที่ผมทำอยู่ ผมยังออกตรวจคนไข้ทุกวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการแล้วเป็นคนไข้เก่าซึ่งผมมีความสัมพันธ์มา 20-30 ปีแล้ว เราทิ้งเขาไม่ได้ แล้วเขาก็ชื่นใจที่จะมาหาเราแล้วเราก็ดีใจที่เราเป็นประโยชน์กับเขา ผมยังเป็นอาจารย์อยู่ผมยังไปสอนที่รามาธิบดีอยู่เป็นประจำ วันจันทร์ห้าโมงเย็น หลังจากนี้ไปผมก็ไป”

จากถ้อยคำแถลงข่าวดังกล่าว จึงอาจเข้าข่ายคุณลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 8 ที่ระบุว่า กรรมการต้อง

1.ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

2.ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่นและไม่เป็นกรรมการหรือที่ ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือราชการ

3.ไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใดที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้ง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์สิริ รองเลขาธิการ กสทช. เคยทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ สทช. 2300/33940 ลงวันที่ 28 ก.ย.2566 ถึงประธานวุฒิสภา โดยขอให้วุฒิสภาดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของ ประธาน กสทช. ในประเด็นที่ยังคงรักษาคนไข้อยู่ ซึ่งอาจเข้าข่ายคุณลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. ตามมาตรา 8 พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และอาจส่งผลให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการตามมาตรา 20 ข้อ (5) โดยมีรายงานว่าคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา เตรียมเรียกสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา ได้รับเรื่องไว้พิจารณาและส่งต่อไปถึงสำนักกฎหมาย รวบรวมข้อมูลเพื่อหาข้อเท็จจริง โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการภายใน 60 วัน

Related Posts

Send this to a friend