นายกฯ – ภูมิธรรม เคลียร์ปม MOU 44 เร่งตั้งคณะกรรมการ JTC ให้เสร็จ กลางเดือนนี้
นายกฯ – ภูมิธรรม เคลียร์ปม MOU 44 เผย เรื่องเดียวที่ต้องเร่ง คือตั้งคณะกรรมการ JTC ให้เสร็จ กลางเดือนนี้ หลังถูกกัมพูชาทวงถาม
วันนี้ (8 พ.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณี MOU 44 ยังไม่สมบูรณ์ในเรื่องข้อกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยเข้ารัฐสภา ว่า จริง ๆ แล้วเรื่องข้อกฎหมายยังไม่เข้าสภาก็จริง แต่เรายึดหลักนี้อยู่ เพราะเป็นหลักของการเปิดเสรีเพื่อการเจรจา ทั้งกัมพูชา และไทย ตกลงร่วมกันว่าจะเจรจา ส่วนเรื่องจะโดนฟ้องหรือไม่นั้น เกิดขึ้นได้ หากมีการยกเลิกฝ่ายเดียว ดังนั้น การคุยกันระหว่างประเทศสำคัญมาก หากจะยกเลิก ยกเลิกเพื่ออะไร ยกเลิกทำไม ถ้ายกเลิกแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องคิดในเรื่องนี้ ถ้ายกเลิก มีผลระหว่างประเทศอย่างไร
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่ออีกว่าลองคิดในกรอบนี้ ให้สมมติเราเป็นเพื่อนกัน จะยกเลิกสิ่งที่เราแชร์ร่วมกัน ต้องตกลงกัน สามารถยกเลิกฝ่ายเดียวได้ แต่ไม่ควรยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ ดังนั้น ต้องมีการคุยกันก่อน จึงขอเวลาสักเล็กน้อยเพื่อคุยกัน ซึ่งไม่ได้มีปัญหากันในส่วนของรายละเอียด เพราะตนเองมีโอกาสได้เจอกับผู้นำของกัมพูชาที่ไปประชุม ที่ผ่านมา ไม่มีอะไรเลย ท่านก็ยังบอกว่ามีอะไรที่กัมพูชาสามารถสนับสนุนประเทศไทย ก็ให้บอกกันมา และเป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจมากกว่าว่าเรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร ขอเน้นย้ำอีกรอบ การขีดเส้นของสองประเทศไม่เหมือนกัน จึงเกิด MOU 44 ขึ้น
ขณะนี้รัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งระหว่างที่ตนเองเดินทางไปประชุม APEC ในวันที่ 10 – 18 พ.ย. การตั้งคณะกรรมการน่าจะเรียบร้อยประมาณช่วงกลางเดือนนี้ โดยได้บอกกัมพูชาไปแล้ว และจะคุยกันทุกอย่างผ่านคณะกรรมการ
เมื่อถามว่าเมื่อ MOU 44 ยังไม่สมบูรณ์ในด้านข้อกฎหมาย ประเด็นนี้จะถูกนำไปพูดคุยในคณะกรรมการด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเสริมว่า MOU นี้เป็นข้อที่ได้พูดคุย เพื่อให้ทุกคนขยายไหล่ทวีปมา เป็นข้อตกลงร่วมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าสภา แต่หลังจากตกลงกันเรียบร้อยแล้ว และถ้ามีอะไรที่เป็นสนธิสัญญา จะมีการเข้าสภาอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า อันนี้สมบูรณ์โดยตัวมันเองแล้ว คือเรื่องข้อตกลงร่วมกันว่าเส้นที่ขีดมานี้จะทำอย่างไรต่อ
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า MOU นี้ ไม่ได้เป็นตัวชี้ว่าเป็นของฉันหรือของเธอ แต่บอกว่าเมื่อของเธอกับของฉันไม่เหมือนกัน เราต้องคุยกัน ซึ่งไม่จำเป็น ต้องเข้าสภา เพราะเป็นการตกลงกันระหว่างสองประเทศเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้ามีข้อตกลงเพิ่มเติมหลังตั้งคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว ค่อยเข้าสภา
ส่วนที่กัมพูชาไม่ได้อยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law Of the Sea : UNCLOS) จะเป็นปัญหาตามมาหรือไม่ นายภูมิธรรม ระบุว่า สนธิสัญญาเจนีวาเขาประกาศ ไม่ว่าจะเข้ากฏหมายทางทะเลหรือไม่ ก็ต้องยอมรับในสนธิสัญญานี้ เพราะฉะนั้น การเจรจาทั้งหมดก็ต้องอยู่ในกรอบนี้ ที่ครอบคลุมทั้งประเทศทั่วโลก ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีปัญหาเลย ซึ่งสนธิสัญญาก็คุยชัดเจนที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อมาเจรจาเรื่องเขตแดนโดยสันติ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายมีแค่นี้ ซึ่งหลังจากคุยกันแล้วมีผลอย่างไร ก็ค่อยมาว่ากันอีกที ซึ่งขณะนี้ต้องรีบตั้งคณะกรรมการของเราให้เรียบร้อยก่อน เพื่อเริ่มการเจรจา โดยมีส่วนที่ผูกพันสองส่วนคือผลประโยชน์ทางทะเล และเขตแดนที่ชัดเจน
เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมร้องเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย จะทำให้รัฐบาลต้องชะลอเรื่องนี้ก่อนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เราชะลอได้เลย แต่สิ่งที่เราต้องมี คือคณะกรรมการ เพราะมิฉะนั้น กัมพูชาก็จะไม่ทราบว่าต้องคุยกับใคร ก็จะไม่เป็นหลักฐานในการคุย คือการตั้งคณะกรรมการสำคัญ คือสิ่งที่เราต้องเร่ง ส่วนเนื้อหาข้างในไม่ต้องเร่ง ซึ่งได้คุยกับทางกัมพูชาแล้ว ว่าต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ถ้าตั้งคณะกรรมการเสร็จจะง่ายขึ้น เพราะทุกอย่างจะถูกตรวจสอบ และพูดคุยกันทั้งสองประเทศ เกิดความยุติธรรม และความเข้าใจขึ้น ดังนั้น ข้อมูลที่ประชาชนอยากได้ก็จะครบถ้วนมากยิ่งขึ้น พร้อมย้ำว่า คณะกรรมการคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และต้องเร่งที่สุด
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะให้เจ้าหน้าที่ส่งข้อมูล เกี่ยวกับแผนที่การขีดเส้นให้กับสื่อมวล ซึ่งเส้นที่กัมพูชาขีดนั้นเขาอ้อมเกาะกูด ดังนั้นเกาะกูดไทย ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขตรงนี้ และทางกัมพูชาก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้ และเขาก็ไม่ได้อยากมีปัญหากับเรา และเขาก็ถามอยู่เรื่องเดียว คณะกรรมการเทคนิคฝ่ายไทยจะแล้วเสร็จเมื่อใด