ศธ. ถก คลัง ใช้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วย รร.เอกชนเสริมสภาพคล่อง
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนพร้อมด้วย นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้หารือร่วมกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยผลการหารือเบื้องต้นกับ เห็นตรงกันว่าจะใช้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) โดยหาแหล่งเงินกู้ เช่น ธนาคารต่างๆ มาให้โรงเรียนเอกชนที่ประสบปัญหาได้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำในวงเงินที่สูงมากขึ้น ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ตนได้ขอให้นางกนกวรรณ ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ในการหาแหล่งเงินกู้ จัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกู้ยืม เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและแบ่งเบาภาระให้โรงเรียนเอกชนมากที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เคยมีประกาศ กช.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียนไปแล้ว
โดยให้โรงเรียนในระบบ กู้ยืมเงินหรือยืมเงิน จากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบฯ โดยให้กู้ยืมโรงเรียนละไม่เกิน 3 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และผ่อนชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 6 ปี โดยชำระเป็นรายเดือน หรือ รายไตรมาส แล้วแต่กรณี ซึ่งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่กำลังจะจัดทำขึ้นใหม่นี้ มีแนวคิดที่จะขอให้กู้ยืมได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าที่กองทุนฯจัดให้ หรือ รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ในช่วงแรก หรือ มีวงเงินกู้ที่สูงขึ้นถึง 20 ล้านบาทเช่นเดียวกับที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับตาม มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ หรือ สินเชื่อฟื้นฟู
อย่างไรก็ตามในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้เชิญผู้แทนจากโรงเรียนเอกชนในระบบ โรงเรียนเอกชนนอกระบบ โรงเรียนนานาชาติ และ ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง มาประชุมหารือแนวทางการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนเอกชน