‘กัณวีร์’ เชื่อเหตุยิง ‘ลิม กิมยา’ อดีต สส.กัมพูชาเป็นการกดปราบ จี้นายกฯ รับผิดชอบ
‘กัณวีร์’ เชื่อเหตุยิง ‘ลิม กิมยา’ อดีต สส.กัมพูชาเป็นการกดปราบ จี้นายกฯ รับผิดชอบ คุ้มครองผู้ลี้ภัยในไทย ลั่นเรื่องนี้ต้องไม่เงียบ
วันนี้ (8 ม.ค. 68) ที่รัฐสภา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม กล่าวถึง กรณีคนร้ายก่อเหตุยิงนายลิม กิมยา ชาวกัมพูชา สัญชาติฝรั่งเศส นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และอดีต สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ชาวกัมพูชา ที่ย่านบางลำภู เมื่อวานนี้ (7ม.ค. 68) ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรียกว่าการกดปราบข้ามชาติ ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ใช่กรณีแรก เป็นการที่ผู้ลี้ภัยหนีการประหัตประหาร จากประเทศหนึ่งมาอีกประเทศหนึ่ง และมีการร่วมมือกันไม่ว่าจะเป็นอย่างเปิดเผยหรือในทางลับ ทำให้เกิดการกดปราบข้ามชาติ เหมือนกรณีของนายวันเฉลิมสัตย์ ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวในกัมพูชา ขณะที่เมื่อเดือนที่แล้วทางการไทยได้ส่งตัวอดีตนักเคลื่อนไหว ชาวกัมพูชากลับไปกัมพูชา ซึ่งสะท้อนให้เห็นความหย่อนยานในกระบวนการกฎหมายของไทย
เมื่อถามว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ นายกัณวีร์ กล่าวว่า แน่นอน เพราะตนเองทำเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝั่งกัมพูชา มาเสียชีวิตในพื้นที่ภาคอีสานของไทยอย่างต่อเนื่อง จึงสงสัยว่าเมื่อไรรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเรื่องการกดปราบข้ามชาติอย่างจริงจัง จะต้องไม่เป็นเครื่องมือ ทางการเมืองของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของเรา
ส่วนมาตรการการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือผู้ลี้ภัยทางการเมือง ไม่ใช่การผลักดันกลับประเทศ แต่สามารถยิงได้เลยใช่หรือไม่ นายกัณวีร์ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้ เพราะทางกฎหมายและประเพณีปฏิบัติระหว่างประเทศ ที่เรายึดมั่นอยู่แล้วเป็นหลักการไม่ส่งกลับ โดยเฉพาะมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายหรือ พ.ร.บ. อุ้มหาย ที่ระบุว่าไทยไม่สามารถผลักดัน คนที่หนีการประหัตประหาร กลับไปที่ประเทศต้นทางได้ แต่ที่ยิ่งเลวร้ายกว่าคือการปล่อยให้ มีการ ประหัตประหารในพื้นดินไทย ซึ่งไทยผิดทั้งกฎหมายในประเทศ และหลักการระหว่างประเทศ ทั้งนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเหตุการณ์ยิงครั้งนี้เป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ จะต้องสืบสวนสอบสวนอย่างโปร่งใส
นายกัณวีร์ ยังเรียกร้องไปยังนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่าการคุ้มครองระหว่างประเทศโดยเฉพาะผู้ลี้ภัยในประเทศไทย แม้ประเทศไทยจะยังไม่ลงสัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย แต่เรามีทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและในประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งอย่างไรต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว เพราะมีคนมาตายในประเทศไทย แต่ต้องขยายความให้ได้ว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัยจริงหรือไม่ เราต้องให้ความคุ้มครองคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าเขาจะสัญชาติอะไร ซึ่งการที่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองมาเสียชีวิตในประเทศไทยมีมานานแล้ว เรื่องก็เงียบมานานแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องไม่เงียบอีกต่อไป