POLITICS

‘จาตุรนต์’ แจงไม่ใช่ไม่พูดคุย แค่ยังไม่ได้ตั้งคณะเจรจาสันติสุขชายแดนใต้

ชี้ ปัญหาซับซ้อนทับถมมานาน ขอไม่ก้าวล่วงฝ่ายบริหาร บอก หากการเจรจาแก้ได้ เอา ปชช. เป็นตัวประกัน จะเป็นการบังคับรัฐบาลทำตาม ก็เป็นปัญหาอีกแบบ

วันนี้ (7 พ.ค. 68) ที่อาคารรัฐสภา นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ถึงวาระการประชุมในวันนี้ ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงสุดท้ายของการจัดทำรายงานให้เสร็จ ซึ่งเป็นการจัดทำข้อเสนอและข้อสังเกตที่จะเสนอต่อสภา เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล โดยจะพยายามให้เสร็จทันช่วงปิดสมัยประชุม ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่เริ่มรุนแรงในช่วงนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะเรื่อง จึงไม่ได้นำมาพูดคุยใน กมธ. ชุดนี้ เพราะ กมธ. จัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาในภาพรวม เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว แต่ถ้าถามว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ต้องบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 1 – 2 ปีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มความรุนแรง และความไม่สงบเพิ่มขึ้น แต่ก็คล้ายกับหลายเหตุการณ์ที่ไม่สามารถพิสูจน์หรือหาตัวคนร้ายด้วยวิธีทางนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้ไม่ทราบชัดเจนว่าเกิดจากการกระทำของใคร แต่ในช่วงหลัง ๆ นี้มีลักษณะพิเศษ เป็นการกระทำแบบไม่จำกัดเป้าหมาย มุ่งไปที่ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเลย โดยเฉพาะคนชราและเด็ก สังคมต้องช่วยกันประณามว่าการกระทำความรุนแรงต่อใครก็ตามเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าการจะใช้ความรุนแรงไปทำกับฝ่ายนั้นฝ่ายนี้

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะหลังนี้ สะท้อนว่าการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ใน 20 ปีนี้ เรายังแก้ปัญหาไม่ตก แก้ไขปัญหาไม่สำเร็จ ทั้งที่ในช่วง 20 ปีนี้ เราทุ่มเททรัพยากรมหาศาลราว 4-5 แสนล้านลงไปในพื้นที่ และยังคงเป็นพื้นที่ที่เติบโตช้าและมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำที่สุด กระบวนการยุติธรรมก็อ่อนแอ ไม่มีระบบที่ทำให้ประชาชนเชื่อถือในการพิสูจน์ว่าเป็นฝีมือของใคร จึงทำให้เกิดการแก้แค้นกันไปมา ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวคือจังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่เดียวที่ใช้กฎหมายพิเศษถึง 3 ฉบับ รวมถึงกฎอัยการศึกด้วย แต่ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจมากขึ้นด้วยกระบวนการปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมาย และมีสาเหตุมาจากความไม่ชัดเจนของรัฐบาล นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การพูดคุยกับผู้เห็นต่างในทางลับมีมาโดยตลอด ซึ่งการพูดคุยอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในปี 2556 มีการตั้งคณะพูดคุยของทั้งสองฝ่าย และยังคงมีอยู่ แต่ระบบการบริหารของเรา คณะพูดคุยตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เมื่อเปลี่ยนนายกฯ คณะเดิมก็ต้องยกเลิกไป ดังนั้น ตอนนี้จึงยังไม่มีการตั้งคณะพูดคุย ไม่ใช่ไม่มีการพูดคุยแล้ว แต่ กมธ. ไม่ขอก้าวล่วงว่าเหตุใดยังไม่มีการตั้งคณะพูดคุย โดยหลักแล้ว เราคิดว่าการพูดคุยเป็นประโยชน์ แต่จะได้ผลแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเท่าที่ดู การพูดคุยยังมีข้อจำกัด เช่น ยังไม่ครอบคลุมถึงประชาชนอีกจำนวนมากและปัญหาอีกหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเองที่เราต้องหาทางแก้ โดยอาจต้องทบทวน เรื่องการใช้นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ งบประมาณ กฎหมาย รวมถึงองค์กรที่เข้าไปกำกับดูแลในการใช้กฎหมายพิเศษ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา เพื่อให้ประชาชนพ้นจากความทุกข์ยาก เดือดร้อน

ส่วนคณะพูดคุยในสมัย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะตั้งได้เมื่อไหร่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของกลยุทธ์ของฝ่ายบริหาร แต่ตอนนี้สถานการณ์มีความซับซ้อนมากขึ้น จะสรุปว่าเป็นเพราะไม่มีการพูดคุยก็เป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป เพราะปัญหาทับถมกันมาหลายสิบปี เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นฝีมือของใคร และคณะที่พูดคุยสั่งการหรือไม่ หรือเห็นด้วยหรือไม่ก็ไม่ชัดเจน ถ้าเจรจาแล้วแก้ไขปัญหาได้หมด คนก็จะมองว่าการใช้ประชาชนเป็นตัวประกันจะบังคับรัฐบาลได้ทุกอย่าง ก็จะเป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง

ส่วนจะต้องมีการปรับสรุปรายงานของ กมธ. เพื่อเพิ่มเหตุการณ์ความรุนแรงเข้าไปหรือไม่ นายจาตุรนต์ ระบุว่า กมธ. จะไม่เสนอทางออกเฉพาะเหตุการณ์ เพราะไม่ใช่โจทย์ที่ได้รับจากสภา แต่เมื่อเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจอยู่ขณะนี้ก็จะนำมาเป็นปัจจัยประกอบในการพิจารณาเสนอข้อสังเกต เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้รู้สึกว่าเป็นประโยชน์จากการรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือการเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแล้วก็ยังยืดเยื้อเรื้อรังไปเรื่อยอย่างที่ผ่านมา

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat