POLITICS

‘พ.ต.อ.ทวี‘ แจงปมพักโทษ ’ทักษิณ‘ เป็นไปตามกฎหมาย

‘พ.ต.อ.ทวี‘ แจงปมพักโทษ ’ทักษิณ‘ เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนกรณีอายัดตัวเป็นเรื่องของอัยการสูงสุด ชี้ถูกควบคุมตัวเท่ากับได้รับโทษแล้ว

วันนี้ (6 ก.พ. 67) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าเกณฑ์พักโทษเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากเป็นผู้ต้องขังอาวุโส และเจ็บป่วยเรื้อรังจะครบกำหนด 180 วันในวันที่ 18 ก.พ.นี้ ทั้งยังถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่ากรมราชทัณฑ์จะมีการประชุมพักโทษทุกเดือนแต่ยังไม่มีเอกสารมาถึงรัฐมนตรี โดยกรณีขออายัดตัวเนื่องจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นคดีความผิดนอกราชอาณาจักร สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวน ปกติอัยการสูงสุดจะประสานให้ตำรวจร่วมสอบสวนด้วย ซึ่งการอายัดตัว ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการสอบสวน หากมีกระบวนการสอบสวนดำเนินการแล้ว จะเป็นเรื่องที่ต้องรอพนักงานอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง กรณีนี้ขอให้ไปถามสำนักงานอัยการสูงสุดจะดีกว่า

ส่วนกรมราชทัณฑ์จะอำนวยความสะดวกให้พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการนำตัวไปสอบ ทั้งนี้การพิจารณาคดีอาจต้องนำคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาไปประกอบการพิจารณาด้วย หากสอบสวนเสร็จแล้วถือว่าหมดการอายัดตัว โดยการอายัดตัวคือการควบคุม อาจปล่อยตัวชั่วคราวและดำเนินคดี เพื่อรอการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง โดยคดีมาตรา 112 ถือเป็นคดีใหม่ของนายทักษิณ

เมื่อถามว่ากรณีที่นายทักษิณจะได้รับการพักโทษในเดือน ก.พ.นี้ หากถูกอายัดตัวเท่ากับว่าไปไหนไม่ได้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่าหากสอบสวนเสร็จแล้วก็จะไม่อายัดตัว ซึ่งต้องดูว่าอัยการจะมีความเห็นในสำนวนอย่างไร

สำหรับการพิจารณาพักโทษ ต้องให้คณะกรรมการของกรมราชทัณฑ์ 19 คน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ศาล อัยการ และตำรวจ จะมีการประชุมพักโทษเดือนละครั้ง แต่ละครั้งมีหลายร้อยคนที่ได้รับพิจารณาให้พักโทษ

พ.ต.อ.ทวี ยอมรับว่าที่มีชื่อนายทักษิณว่าจะได้รับการพักโทษด้วย ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ แต่หากครบเกณฑ์หรือมีเหตุให้พักโทษ ก็อาจจะให้พักการลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้เมื่อพักโทษไปแล้วจะต้องใส่กำไล EM หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ ขอไปตรวจสอบก่อน พร้อมยืนยันว่าการพักโทษของนายทักษิณ เป็นไปตามกฎหมายกำหนด มีกฎกระทรวงที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว

สำหรับการพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลของนายทักษิณ ก็ใช้คำว่าห้องควบคุม-ถูกควบคุม อดีตมีกรณีนี้เยอะ ที่เจ็บป่วยก็จะถูกควบคุมในโรงพยาบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของโรงพยาบาล กรณีโรงพยาบาลตำรวจก็หมายถึงดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต้องดูเงื่อนไขความปลอดภัยและเงื่อนไขอื่น ๆ ร่วมด้วย ย้ำว่าทุกขั้นตอน มีความละเอียดอ่อน การปฎิบัติทุกอย่างยึดตามกฎหมาย มีกระบวนการตรวจสอบ หากกรณีนายทักษิณมีกระบวนการพักโทษ ก็ต้องถามความเห็นแพทย์ ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่มีการขอพระราชทานอภัยโทษมาแต่อย่างใด

ทั้งนี้กรณีของนายทักษิณที่ไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ได้รับการพักโทษ ในทางกฎหมายถือว่าถูกควบคุมตัว ก็คือได้รับโทษ แต่ในความรู้สึกของคนอาจมีมุมมองที่แตกต่างกัน

Related Posts

Send this to a friend