POLITICS

‘หมอชลน่าน’ ระดมทีมสหวิชาชีพตั้งศูนย์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่พารากอน

‘หมอชลน่าน’ เปิดศูนย์ Care D+ Space ระดมทีมสหวิชาชีพตั้งศูนย์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่พารากอน พบ 9 รายมีความเครียดรุนแรง

วันนี้ (5 ต.ค. 66) เวลา 15.30น. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมพิธีเปิดศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ (Care D+ Space) ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น นับเป็นบาดแผลทางใจ ยากที่จะลืมเลือนของผู้สูญเสีย หลังเกิดเหตุการณ์ผู้คนทั้งประเทศและทั่วโลก ได้ร่วมส่งสารแสดงความรู้สึกเสียใจและส่งมอบกำลังใจให้ญาติและครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ ผู้บาดเจ็บ และผู้ประสบเหตุในพื้นที่ที่เกิดขึ้น

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ ตนเองและคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข มีความรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมให้การสนับสนุนดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยนโยบายการดูแลสุขภาพใจในทุกที่ (Mental Health Anywhere) จึงเร่งลงพื้นที่ และวางแผนติดตามผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ตามระดับความรุนแรง ในเบื้องต้นได้เข้าเยี่ยมดูอาการผู้บาดเจ็บและญาติผู้สูญเสียแล้ว และมอบหมายกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) จากสหวิชาชีพที่ให้การช่วยเหลือ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข และทีมสุขภาพจิตสำนักงานอนามัยกรุงเทพมหานคร ร่วมลงปฏิบัติการเชิงรุกเข้าเยี่ยมดูแลประชาชน ในสถานพยาบาลพื้นที่เกิดเหตุ และพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง

ทีมสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิต (MCATT) พบว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ด้วยการประเมินสุขภาพจิตและให้คำปรึกษาเบื้องต้น ตั้งแต่ 15.00 – 20.00 น. ซึ่งตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เข้ารับการประเมินแล้วทั้งสิ้น จำนวน 23 ราย มีความเสี่ยงสูงจำนวน 9 ราย มีความเสี่ยงปานกลาง จำนวน 11 ราย และมีความเสี่ยงต่ำ จำนวน 1 ราย ซึ่งทุกท่านได้รับคำแนะนำให้คำปรึกษา การดูแลเยียวยาจิตใจ หรือการปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้น (Psychological First Aid : PFA) และการติดตามดูแลต่อเนื่อง จากกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้บริหารกรมสุขภาพจิต ได้ประสานผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อจัดหาพื้นที่สำหรับการดูแลเยียวยาจิตใจ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน หรือศูนย์ Care D+ Space (แคร์ ดี พลัส สเปส) เป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์

ในกรณีที่ผู้ประสบเหตุมีภาวะอาการทางจิตเร่งด่วนฉุกเฉินรุนแรง สามารถมาใช้บริการได้ที่ทางศูนย์ Care D+ Space บริเวณชั้น G ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยสำหรับขั้นตอนขอเข้ารับการประเมินสภาพจิตใจ เริ่มต้นจุดแรก จะเป็นการคัดกรองภาวะความเครียดและภาวะสุขภาพจิตรายบุคคล จากนั้น จะมีการประเมินความเสี่ยง แบ่งออกเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง หากอยู่ในกลุ่มสีเขียว จะมีกิจกรรมเสี่ยงเซียมซีความสุข ที่มีคำทำนายเพื่อสร้างกำลังใจ พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพจิต กลุ่มสีเหลือง จะได้รับคำปรึกษารายบุคคล และผู้ที่อยู่ในกลุ่มสีแดงจะได้เข้ารับการตรวจด้วยเครื่อง Biofeedback เป็นเครื่องวัดที่สามารถบอกสภาวะทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และดูระดับความเครียด และหากพบว่าผู้รับการประเมินมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต จะมีเจ้าหน้าที่โทรติดตามประเมินอาการ และให้คำแนะนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป หรือสามารถวิดีโอคอลผ่านระบบ Telemedicine ปรึกษาจิตแพทย์ที่มาจากทั้งสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และโรงพยาบาลศรีธัญญา พร้อมกันนี้ กรมสุขภาพจิตเปิดบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ 1667 เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีงานสุขภาพจิตโรงเรียน ซึ่งมีการดำเนินการเชิงรุก ไม่ใช่เพียงการคัดกรองและส่งต่อ แต่เด็กๆ จะต้องได้รับการดูแลพฤติกรรมเสพติด และเรียนรู้การช่วยเหลือกันเองในเบื้องต้น ทั้งนี้ ปัญหาการติดเกม ที่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับรายนี้หรือไม่ก็ตาม แต่เป็นปัญหาสำหรับเด็กที่สังคมต้องให้ความสนใจ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การติดเกมเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ แพทย์หญิงอัมพร กล่าวว่า ใช่ เพราะถ้าหากการติดเกม ทำให้เด็กหมกหมุ่นกับกิจกรรมนั้นมากเกินไป จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการเรียน การพักผ่อน การเข้าสังคม รวมถึงสัมพันธ์ในครอบครัว เมื่อไรที่เรียกว่า ติดแล้ว ก็ถือเป็นปัญหาสุขภาพจิต แม้จะไม่ใช่โรคทางจิตเวชก็ตาม

Related Posts

Send this to a friend