POLITICS

ชัชชาติ ยัน ไม่ส่งกฤษฎีกาตีความ หลังคลังสั่งเบรกปรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

วันนี้ (5 ต.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า เดิมทีกรุงเทพมหานครเก็บภาษีโรงเรือน อัตรา 12.5% ของรายได้ แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเก็บตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ไม่ว่าใครจะทำอะไรต้องเสียภาษีในอัตราเท่ากัน ข้อกังวลคือ ปีงบประมาณ 2564 กรุงเทพมหานครอาจเก็บภาษีได้ไม่มาก ประมาณการไว้ว่า 7,500 ล้านบาท แต่เมื่อสิ้นปีงบประมาณ (เดือนกันยายน 2565) เก็บได้เกินเป้าคือ 14,000 ล้านบาท ปัญหาคือ ข้อมูลไม่ครบถ้วน เนื่องจากไม่ได้อัปเดต ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเก็บข้อมูลได้เพียง 3,000,000 กว่าแปลง จากทั้งหมด 5,500,000 แปลง คาดว่าปีงบประมาณหน้า จะเก็บภาษีได้ 18,000 ล้านบาท

สำหรับการจัดเก็บภาษีของกรุงเทพมหานครจัดเก็บเอง 30% หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท โดย 70% เป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เหลือรัฐบาลกลางส่งมาให้ เป็นภาษีล้อเลื่อนและ VAT ประมาณ 60,000 ล้านบาท ส่วนปัญหาการนำที่ดินขนาดใหญ่ไปใช้เป็นที่ดินเกษตร เพื่อให้เสียภาษีอัตราต่ำ 0.01% กรุงเทพมหานครได้เสนอปรับอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทที่ดินเกษตรกรรมตามสีของผังเมือง ซึ่งกระทรวงการคลังสั่งเบรก และหากจะดำเนินการต้องไปถามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น กรุงเทพมหานครคงไม่ยื่นเรื่องไป เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต้องตีความ แต่เป็นเรื่องเจตนารมณ์ หากกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยก็คงต้องวิธีอื่นต่อไป

นายชัชชาติ กล่าวว่า ยังมีปัญหาการซอยที่ดินเป็นแปลงย่อย ทำให้ราคาประเมินถูกลง เก็บภาษีได้น้อยลงด้วย ปัญหาการเก็บภาษีจากอุปกรณ์ที่ติดตั้งในส่วนควบอาคารที่กรุงเทพมหานครทำให้ไม่สามารถเก็บภาษีได้ การตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ จึงต้องพิจารณาทุกมิติ ปัญหาต่าง ๆ คงต้องแจ้งรัฐบาล กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนเพราะมี พ.ร.บ.บังคับใช้ อัตราต่าง ๆ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทยก็เป็นผู้กำหนดร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่สี่ ประจำปี 2565 นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตคันนายาว ได้เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในทางปฏิบัติที่นายทุนมีช่องว่างหลบเลี่ยง ในขณะที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รับความเดือดร้อน ซึ่งที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาฯ จำนวน 21 ท่าน

Related Posts

Send this to a friend