POLITICS

‘พิมพ์ภัทรา’ สรุปผลงาน 1 ปี บนเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรม พร้อมส่งไม้ต่อให้ ‘เอกนัฏ’

‘พิมพ์ภัทรา’ สรุปผลงาน 1 ปี บนเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วยนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ พร้อมส่งไม้ต่อให้ ‘เอกนัฏ พร้อมพันธุ์’ รัฐมนตรีคนใหม่

วันนี้ (4 ก.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วง 1 ปี ของการเข้ามาบริหารงานในตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ซึ่งเป็นแนวทางในการพลิกอุตสาหกรรมไทยที่รองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

1.รื้อ คือ เร่งรื้อปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น โดยออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ที่คงค้างแล้วเสร็จ 187 คำขอ เกิดการลงทุนเพิ่ม 12,000 ล้านบาท และออกใบอนุญาตที่ขอใหม่ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนแก้ไขปัญหาผังเมือง ก่อให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

2.ลด คือ ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ โดยเร่งจัดการกากอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ไม่มีการลักลอบเผา และการช่วยเหลือโรงงานน้ำตาลที่ไม่รับอ้อยลักลอบเผา แก้ปัญหา PM 2.5

ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้มีการตรวจ กำกับดูแลโรงงาน/วัตถุอันตราย และการจดทะเบียนเครื่องจักร 28,869 โรง ยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยมีโรงงานได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ร้อยละ 87.66 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 90 ของจำนวนโรงงานทั้งหมดที่แจ้งประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมการทำเหมืองแร่ในเมือง เพื่อสร้าง/ขยายเครือข่ายการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ประโยชน์

ในรอบ 1 ปี ทีผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด พร้อมเร่งกำหนดมาตรฐานเพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันในทุกเวทีการค้า และเป็นกลไกสกัดสินค้าด้อยคุณภาพเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ และคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยมีมูลค่าการตรวจจับ ยึด-อายัด สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน

ผลักดันการจัดตั้งนิคม Circular แห่งแรกของไทยในพื้นที่ EEC ตลอดจนพัฒนานิคม Smart Park เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า Solar Rooftop และอุตสาหกรรม Recycle สอดรับกับแนวคิด BCG โดยแบ่งเป็น การส่งเสริมและพัฒนา SMEs ตามแนวทาง BCG 1,500 ราย 300 กิจการ 200 ผลิตภัณฑ์ 5 กลุ่ม และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานได้รับการส่งเสริมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม 600 ราย และผู้ประกอบการนักลงทุนที่สนใจได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ 950 ราย

พัฒนาระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ (E-Payment) ให้มีรายรับการชำระเงิน สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ ยอดรวมการรับชำระเงิน สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ และจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5 รวม 298 กิจกรรม รวมถึงจัดตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉินจากการประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อก. (ศบฉ.) เพื่อจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม

3.ปลด คือ การปลดภาระให้ผู้ประกอบการ โดยส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด ปลดล็อกการติดตั้ง Solar Rooftop ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคธุรกิจหรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยายการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย และพัฒนาระบบรับชำระเงินค่าภาคหลวงแร่ ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ตลอดจนระบบการออกใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์

ผลักดันเหมืองแร่โปแตช เพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรให้เกษตรกร และได้จัดสรรผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเป็นเงินที่จัดเก็บในขั้นตอนการออกอาชญาบัตร และประทานบัตรเหมืองแร่ คาดว่าจะสามารถจัดสรรผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ จำนวน 526.71 ล้านบาท

ส่งเสริม MSMEs ให้มีศักยภาพและแข่งขันได้ 5,940 ราย 1,320 กิจการ 37 กลุ่ม/ เครือข่าย 520 ผลิตภัณฑ์ ยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจรพัฒนาเพิ่มผลิตภาพอ้อย 4,000 ราย 1,480 กิจการ 30 กลุ่ม และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้เพิ่ม โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน/แปรรูปสินค้าเกษตร ส่งเสริม/พัฒนาผู้ประกอบการ 4,780 ราย 428 ผลิตภัณฑ์

4.สร้าง คือ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก โดยพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพเพิ่มเติม ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาลาล มีการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล และคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ และจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ.2567-2570) คาดว่ามูลค่า GDP ภาคอุตสาหกรรม จะเพิ่มขึ้น 55,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 ส่งผลให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 100,000 คน/ปี และมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี

ผลักดันนโยบายการพัฒนาโกโก้สู่การเป็น ASEAN COCOA HUB เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน และมีกระบวนการผลิตสู่สินค้าพรีเมียมยกระดับผู้ผลิตไทยในตลาดโลก เดินหน้าเปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อม โดยสร้างโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศเพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนทั่วประเทศให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไทยมีศักยภาพและนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์และลดการนำเข้า เพื่อสร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศและประชาชน นอกจากนี้ ได้พัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) งานก่อสร้างจะมีความก้าวหน้าในภาพรวม คิดเป็นร้อยละ 95.00 ขณะเดียวกันได้พัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมและบริหารแห่งอนาคต 1,508 ราย 159 กิจการ 3 เครือข่าย 20 ต้นแบบ 28 ผลิตภัณฑ์

Related Posts

Send this to a friend