POLITICS

‘วราวุธ’ ชี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสุดยอด

‘วราวุธ’ ชี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสุดยอด ระบุ คนรุ่นหลังเตรียมเป็นนางแบก รับภาระต่อ

วันนี้ (4 ม.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินการประชุมร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา ว่า ขอบคุณฝ่ายค้าน ที่ได้ตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมการเกษตร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องสังคม ที่ทางกระทรวงเราดูแลอยู่ โดยข้อสังเกตเหล่านั้น จะนำไปปรับปรุง และเร่งรัดการทำงาน และฝ่ายรัฐบาลเองก็ให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับทางฝ่ายค้านได้ ขอขอบคุณที่มีความเป็นห่วงเป็นใยกับพี่น้องกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเด็กเล็ก ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสุดยอด หรือ Super Aging Society เทียบเท่าประเทศญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว การจะดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำ แต่ศักยภาพในการดูแลเทียบกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2565 มีเพียง 4 แสนกว่าคนเท่านั้น

นายวราวุธ ระบุว่า ต่อจากนี้คนรุ่นต่อไป จะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อมีส่วนกลางให้กับผู้สูงอายุที่นับวันจะมีมากขึ้น หัวใจสำคัญขณะนี้ นอกจากการดูแลผู้สูงอายุให้ทั่วถึงแล้ว ยังถึงเวลาที่สังคมไทยจะดึงเอาศักยภาพของคนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุกคนล้วนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคมไทย เราต้องดึงศักยภาพของคนเหล่านี้มาเป็นแรงขับเคลื่อนของสังคม

“คนรุ่น Gen Y และ Gen Z ที่จะมาทำงานนั้นมีปริมาณน้อยลง ๆ ถ้าหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ คน Gen Y Gen Z ก็จะต้องทำงานเป็น Generation ของนางแบกที่หนักขึ้นไปกว่านี้อีก” นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ได้พูดในหลายประเด็น เช่น เรื่องความรุนแรงทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ ถือว่าเป็นกำลังใจให้กับพวกเราชาวคอม ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาครบทุกมิติของสังคมไทย

ส่วนที่มีสมาชิกอภิปรายขอปรับเปลี่ยนเบี้ยผู้สูงอายุให้เพิ่มเป็น 1,000 บาทนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า การขอเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ต้องเข้าใจว่าวันนี้การจะขอเพิ่มถ้วนหน้าจะต้องใช้งบเพิ่มปีละ 60,000 ล้านบาท และแต่ละปีจำนวนผู้สูงอายุจะมากขึ้นเรื่อย ๆ และเวลานี้ประเทศไทยมีผู้เสียภาษีจริงๆ อยู่ไม่ถึง 10% ของจำนวนประชากรไทย เงินขาเข้ามีอยู่น้อยนิด แต่เงินขาออกทุกคนอยากให้มีถ้วนหน้า มองว่าสิ่งสำคัญคือเราควรเน้นดูแลกลุ่มคนที่เปราะบาง และมีความเดือดร้อนมากที่สุดเสียก่อน แล้วค่อย ๆ ถัดไปตามลำดับ

“เห็นใจกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงบประมาณ ที่มีรายได้เข้ามาค่อนข้างจำกัด เราเองก็ไม่อยากให้งบประมาณขาดดุลทุกปี ปีนี้เองก็กู้มาอีกหลายแสนล้าน แต่หากต้องการถ้วนหน้าจริง ก็จะเพิ่มภาระให้กับงบประมาณ เมื่อไหร่ที่มีเพียงพออย่าว่าแต่ 1,000 บาทเลย เราก็อยากให้ถึง 3,000 บาท กี่พันบาทก็อยากจะให้ทั้งนั้น แต่วันนี้รายจ่ายกับรายรับยังไม่สมดุลกัน” นายวราวุธ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat