POLITICS

หมอเก่ง ย้ำ ไม่วางใจงบกลาง 1.6 หมื่นล้าน ตัดแล้วคืนให้ตรงจุด

นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ให้ความเห็นต่อกรณีกรรมาธิการเสียงข้างมากมีมตินำงบประมาณกว่า 16,000 ล้านบาท จากการพิจารณาตัดลดงบประมาณหน่วยงานต่างๆให้นำไปเป็นงบกลางทั้งหมดว่า คำว่า ‘งบกลาง’ ถ้าจะให้อธิบายอย่างง่ายที่สุด คือ งบประมาณส่วนที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ บางท่านจึงเปรียบว่าเป็น ‘เช็คเปล่า’ของนายกรัฐมนตรี

“การพิจารณางบประมาณแผ่นดินนั้น กรรมาธิการส่วนใหญ่ยึดหลักการรีดไขมันออกจากส่วนต่าง ๆ ที่เห็นว่าอาจยังไม่มีความจำเป็นนักในปีหน้า โดยรีดไขมันออกมาได้ถึง 16,000 ล้านบาทเศษ แต่หน่วยงานต่างๆ ได้แสดงความจำนงเพื่อขอให้ ‘คืน’ งบประมาณที่ถูกปรับลดไปตั้งแต่ชั้นการพิจารณาโดยสำนักงบประมาณและชั้นกรรมาธิการฯ เข้ามาเป็นจำนวนมากกว่าแสนล้านบาท กรรมาธิการจึงมีหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อคืนงบประมาณ 16,000 ล้านบาทเศษนี้กลับไปอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มากที่สุด ซึ่งกรรมาธิการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าควรให้ความสำคัญต่อการนำไปใช้บริหารจัดการสถานการณ์โควิดฯ ในปีหน้า แต่ความเห็นที่ไม่ตรงกัน คือจะคืนงบประมาณไปยังจุดใดที่จะตอบโจทย์นี้มากที่สุด”

นายแพทย์วาโย กล่าวต่อว่า สำหรับกรรมาธิการในส่วนพรรคก้าวไกล เห็นว่า การบริหารจัดการงบประมาณทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีและเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรียังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สถานการณ์หลายอย่างสะท้อนถึงความล้มเหลวของการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่ไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการงบกลางนี้ และเห็นว่าควรคืนงบประมาณ 16,000 ล้านบาทเศษกลับไปยังหน่วยงานที่จะนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์โควิดฯโดยตรง

“อย่าง กองทุน สปสช.หรือ บัตรทอง ได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงจากปีที่แล้ว จาก 142,000 ล้านบาทเศษ เหลือ 140,000 ล้านบาทเศษ ลดลงไป 2,000 ล้านบาทเศษ โดยมีการจัดสรรส่วนหนึ่งเพียง 600 ล้านบาทเศษ เพื่อนำไปใช้เป็นค่าบริการสาธารณสุขในกรณีโควิดฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่น่าจะเพียงพอต่อสถานการณ์ที่วิกฤติขึ้นเรื่อย ๆ ทางกองทุน สปสช.เองก็เล็งเห็นถึงปัญหานี้และได้ยื่นความจำนงเข้ามาเพื่อขอให้คืนงบประมาณในส่วนนี้กลับไปเพื่อใช้แก้ไขปัญหาโควิดฯ โดยทางพรรคก้าวไกลก็เห็นด้วย

“อีกกรณีคือในส่วนของผู้ประกันตนฯ ซึ่งได้รับความดูแลโดยกองทุนประกันสังคม งบประมาณส่วนหนึ่งต้องถูกนำไปใช้เพื่อเป็นค่าชดเชยจากการขาดรายได้จากมาตรการควบคุมต่างๆ ของรัฐ และค่ารักษาพยาบาลทั้งจากกรณีเจ็บป่วยปกติและกรณีโควิดฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นที่เห็นได้ชัดและแน่นอนว่าจะต้องนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิดฯ ในปีหน้า ดังนั้น แค่สองกองทุนนี้ก็ควรที่จะคืนงบประมาณให้เขากลับไปเป็นหลักหลายพันล้านบาทแล้ว”

นายแพทย์วาโย ยังย้ำว่า นอกจากสองหน่วยงานนี้ ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมายที่เห็นว่ามีความจำเป็นโดยตรง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสวัสดิการของประชาชนทั้งหลาย ขอยกตัวอย่างอีกหนึ่งตัวอย่าง ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในภาวะวิกฤติที่ผ่านมาและในอนาคต ซึ่งการศึกษาของเด็กและเยาวชนถูกปล่อยปละละเลย บริหารจัดการได้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

“แต่กรรมาธิการเสียงข้างมากกลับมีมติคืนงบประมาณทั้งหมดกลับเข้าสู่งบกลางเพื่อให้นายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการได้อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าจะมีเงื่อนไขกำหนดให้นำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิดฯก็ตาม แต่คงไม่สามารถรับรองและให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ว่า ท่านจะนำไปบริหารจัดการได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ เห็นได้อย่างชัดเจนจากการบริหารราชการแผ่นดินในปีที่ผ่านมา และจากการบริหารจัดการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นส่วนหนึ่งของความไม่เห็นด้วยของพรรคก้าวไกลต่อการที่กรรมาธิการงบประมาณฯ เสียงข้างมากได้เห็นชอบให้คืนงบประมาณ 16,000 ล้านบาทเศษกลับเข้าสู่งบกลาง”

“โดยที่ผ่านมาคงเห็นได้ชัดเจนว่า เราไม่ไว้วางใจท่านประยุทธ์ฯในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น เราจึงไม่อาจเห็นชอบต่อการคืนงบประมาณ 16,000 ล้านบาทเศษนี้กลับไปเข้างบกลาง เพื่อให้ท่านประยุทธ์ฯ บริหารจัดการต่อไปได้อีก งบประมาณส่วนนี้ควรคืนกลับไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อสถานการณ์วิกฤติของบ้านเมืองในปีหน้ามากกว่า เช่น กองทุนบัตรทองและกองทุนประกันสังคม เป็นต้น”

Related Posts

Send this to a friend