POLITICS

ป.ป.ช.แจงมติเอกฉันท์เรื่องไม่เปิดความเห็น จนท.รับผิดชอบคดี “เปิดเผยข้อมูลนาฬิกา พล.อ.ประวิตร” เกรงกระทบการปฏิบัติหน้าที่

ป.ป.ช.แจงมติเปิดเผยข้อมูลนาฬิกา พล.อ.ประวิตร เอกฉันท์ เรื่องไม่เปิดความเห็น จนท.รับผิดชอบคดี เกรงกระทบการปฏิบัติหน้าที่ทั้งของ ป.ป.ช. และบุคคลภายนอกที่มาช่วยงาน ซึ่งมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้การรับรองคุ้มครองไว้เป็นบรรทัดฐาน เตรียมหารือตุลาการหาแนวปฏิบัติที่ชัดเจน

วันนี้ (3 พ.ค. 66) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเกี่ยวกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการเปิดเผยข้อมูลกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ให้แก่นายวีระ สมความคิด ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ดังนี้

ในเรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับทราบคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 และมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่ได้มีมติแต่อย่างใด และได้มอบหมายให้สำนักคดี สำนักกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำคำพิพากษาไปศึกษา วิเคราะห์ และนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาอีกครั้ง

ต่อมาในวันนี้ (3 พ.ค. 66) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประชุมพิจารณาเกี่ยวกับการเปิดเผยเอกสารตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และมีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียงว่าให้เปิดเผยเอกสารรายการที่ 1 รายงานและสำนวนการตรวจสอบ การไต่สวน และการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้อง รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด และเอกสารรายการที่ 3 รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้

สำหรับเอกสารรายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียงว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานไต่สวน พนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการมาช่วยปฏิบัติงานภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 ให้ความคุ้มครอง สอดคล้องกับมาตรา 36 วรรคท้ายของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาให้การรับรองคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูลในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นจึงมีมติมอบหมายให้สำนักคดี นำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เคยมีคำพิพากษาคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูล พร้อมประเด็นปัญหาไปหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว รวมถึงปัญหาข้อขัดข้องกับตุลาการศาลปกครองสูงสุดต่อไป

ทั้งนี้นายวีระ สมความคิด สามารถยื่นขอรับเอกสารที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้เปิดเผยทั้ง 2 รายการ ตามเอกสารรายการที่ 1 และเอกสารรายการที่ 3 ได้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

Related Posts

Send this to a friend