POLITICS

ส.ส.ก้าวไกล จี้เลิกจัดงบแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

ชี้ ปัญหาใหญ่คือ ‘รัฐราชการรวมศูนย์’ เสนอยก ‘ภาษีสรรพสามิต’ ให้ท้องถิ่นกระจายจังหวัดละ 3,000 ล้าน เพื่อสร้างเมือง ยืนยัน ‘ก้าวไกล’ เป็นรัฐบาลทุกอย่างทำได้แน่

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 วาระแรก วันสุดท้าย โดยระบุว่า หลายคนอาจเคยได้ยินว่า สาเหตุที่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้เพราะไม่มีงบประมาณ ความจริงแล้วประเทศไทยมีงบประมาณมากพอ เพียงแต่ต้องถามว่าได้ใช้อย่างฉลาดหรือยัง งบประมาณประจำปีเป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดว่าอะไรควรทำก่อนหลัง เรื่องใดควรได้มากได้น้อย แต่งบประมาณปี 65 ยังจัดแบบเดิม หากพิจารณาจากงบลงทุน 6.24 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.14 เรียกได้ว่าผ่านเกณฑ์กฎหมายแบบเฉียดๆ และผ่านแบบโกงนิยามเช่นเดิม ในรายละเอียดจากที่ต้องกู้ 7แสนล้านบาทเพื่อนำมาลงทุนนั้น ที่พอจะนับได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศจริงๆอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.36 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ว่าต้องมีงบลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 มาก

“ที่สำคัญกว่าน้อยหรือมากคือที่ลงทุนไปถูกทางหรือไม่ สร้างอนาคตได้หรือไม่ สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือระบบงบประมาณแบบไทยๆ ซึ่งรัฐบาลนี้บริหารมา 7 ปี ใช้งบประมาณไปแล้ว 20 ล้านล้านบาท โดยมีรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นศูนย์รวมของปัญหา เราจึงเห็นปัญหามือใครยาวสาวได้สาวเอาเชิงฟังก์ชั่น หรือก็คือทุกกรม ทุกหน่วยงบประมาณ มองแต่อำนาจหน้าที่ของตัวเองไม่ได้คิดแบบองค์รวมแล้วแย่งงบกัน ประเด็นก็คือการบูรณาการไม่ให้เกิดสภาพแบบนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ว่าจะมีไว้ทำไม รัฐบาลจะต้องจัดสรรทรัพยากรและทำให้ทุกกรมทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายของประเทศให้แก้ปัญหาอย่างบูรณาการจริงๆ ผลจากการแย่งชิงงบประมาณงบลงทุน กระทรวงที่ได้มากที่สุดคือ กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงได้งบประมาณไปมากที่สุด 109,433 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 23.2 กรมส่วนทางหลวงชนบทอยู่ที่ 44,717 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 พูดง่ายๆก็คือ ร้อยละ 30 ของงบลงทุนเป็นการสร้างถนน ดังนั้น ต้องถามว่าหากพูดถึงการลงทุนของประเทศไทยแล้ว มันคือการสร้างถนนอย่างนั้นหรือ”

สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า เรายังได้เห็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาเชิงพื้นที่ จึงจะเห็นบางจังหวัดได้มาก บางจังหวัดได้น้อย แต่ต้องคิดเสมอว่างบประมาณมีจำกัด หากที่หนึ่งได้มาก อีกที่จะได้น้อย หรือมีที่ได้เปรียบและเสียเปรียบ จึงจำเป็นต้องแก้เชิงระบบและกระจายงบอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องตัวชี้วัด อย่างกรมทางหลวงได้งบไปมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท แต่ตั้งตัวชี้วัดแค่ 2 ตัว คืออัตราเสียชีวิตคงที่ที่ 1.94 คนต่อแสนประชากร คือไม่อยากลดหรือไม่อยากรับผิดชอบ แต่คงไปโทษที่พฤติกรรมขับขี่ประชาชน อีกตัวหนึ่งคือความเร็วเฉลี่ย จาก 77.5 เป็น 78.0 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตั้งตัวชี้วัดแบบนี้เอาแค่ 50,000 ล้านบาทก็ทำได้เพราะไม่ต่างกัน หรือมีตัวชี้วัดก็เหมือนไม่มี

“รัฐราชการรวมศูนย์คือศูนย์รวมปัญหาที่อยากแต่สร้างอะไรใหญ่ๆ และสร้างเกินจำเป็นไปมาก อย่างเมกกะโปรเจ็คด้านคมนาคม พัฒนาแต่แกนใหญ่ที่ทำให้ใหญ่แต่กรุงเทพฯ จะฉลาดกว่านี้มากถ้าเอาไปสร้างหัวเมืองก่อนไม่ใช่สร้างแต่ทางเชื่อมระหว่างเมืองและสร้างเกินจำเป็นไปมาก อย่างทำทางคู่ กรุงเทพ – โคราช อันนี้ดีเพราะเพิ่มศักยภาพให้กับระบบได้อีก 10 เท่า ตรงนี้ใช้ไปแล้ว 25,000 ล้านบาท แต่ที่ฉลาดน้อยคือ ไปสร้างสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็เพิ่มอีก 10 เท่า 179,000 ล้านบาท แล้วก็ทำมอเตอร์เวย์อีก 85,000 ล้านบาท ตัดยอดผู้ใช้กันเองแล้วแบบนี้ใครจะใช้ระบบราง และต้องถามว่าลงทุนแต่โครงการแบบนี้แล้วเมืองหรือท้องถิ่นไม่ต้องพัฒนาหรือ ปัจจุบันประเทศไทยขาดหัวเมืองต่างๆ มีแค่กรุงเทพฯเท่านั้นที่นับเป็นเมืองได้ จังหวัดอื่นไม่สามารถเป็นหัวเมืองได้เลย”

ช่วงท้าย สุรเชษฐ์ เสนอว่า ที่สามารถทำได้เลยทันทีคือภาษีสรรพสามิต ปัจจุบันแยกหัวจ่ายตามพื้นที่อยู่แล้ว ปัญหาก็คือเอามาเทกองกลางที่รัฐบาลแล้วใครมือยาวก็สาวได้สาวเอา ควรเก็บไว้ที่ท้องถิ่น ถ้ากลัวว่าจะใช้ผิดก็สามารถจำกัดวัตถุประสงค์ได้ โดยเฉลี่ยภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ปี 63 จำนวน 224,503 ล้านบาท หากกระจายไป 77 จังหวัดก็จะตกได้เกือบ 3 พันล้านต่อจังหวัด ให้เขาคิดเองหรือสะสมเพื่อวางแผนพัฒนาใหญ่ๆ เช่น จะทำรถไฟฟ้าก็ทำได้ นี่คือท้องถิ่นจ่าย ท้องถิ่นใช้ ท้องถิ่นเจริญ นอกจากนี้ควรจะมีหน่วยงาน MPO หรือ Metropolittan Planning Organization เพื่อช่วยเมืองคิด ไม่ใช่เมืองมีแค่คำขวัญ แต่ต้องมีโครงการพัฒนาที่ชัดเจนว่าอยากจะให้เมืองเป็นแบบไหน ยืนยันว่า เรื่องนี้ก้าวไกลทำได้แน่ แค่รัฐบาลลดการผลาญเท่านั้น

Related Posts

Send this to a friend