POLITICS

ตัวแทน 5 พรรคการเมือง ยืนยันส่งเสริมเสรีภาพสื่อ ค้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ

ตัวแทน 5 พรรคการเมือง ยืนยันส่งเสริมเสรีภาพสื่อ เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ค้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ ส่งเสริมความโปร่งใสของรัฐ ขจัดการฟ้องปิดปากสื่อ

วันนี้ (2 พ.ค. 66) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมจัดเวที “สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ในมุมมองพรรคการเมืองไทย โดยมีตัวแทนจาก 5 พรรคการเมือง ได้แก่ รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล, ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ พรรคไทยสร้างไทย, ขัตติยา สวัสดิผล พรรคเพื่อไทย, วทันยา บุนนาค พรรคประชาธิปัตย์ และ (ว่าที่)ร้อยตำรวจเอกหญิง อัยรดา บำรุงรักษ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ โดย ตัวแทนพรรคการเมือง ระบุว่าพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชนและสนับสนุนเสรีภาพของสื่อมวลชนภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และรัฐไม่ควรจะปกปิดข้อมูลข่าวสารจากประชาชน

วทันยา บุนนาค ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อในการแสดงออกภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และสื่อต้องสามารถกำกับสอดส่องดูแลตัวเอง กลไกรัฐจะได้แทรกแซงน้อยลง นอกจากนั้น วทันยายังแสดงความกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นร่างที่คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอ ซึ่งวทันยามองว่า เป็นการใช้กฎหมายในการปิดปากสื่อ

ตัวแทนพรรคการเมือง ยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การสะพัดของข่าวปลอมที่ปรากฏให้เห็นทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ ซึ่ง รังสิมันต์ โรม ได้ให้ความเห็นว่า Fake News เกิดขึ้นและต้องปราบปราม และ ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงข่าวได้มากขึ้น สื่อหลักบางสำนักยังนำเสนอข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งหากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยจะแก้ทั้งวิธีการพิจารณาความทางแพ่งและอาญาเพื่อไม่ให้เกิดการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก และจะทำการแก้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยมุ่งเน้นไปที่การดำเนินคดีความการแฮก เพื่อป้องกันการถูกนำไปใช้ในการฟ้องร้องกรณีหมิ่นประมาท

ขัตติยา สวัสดิผล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ได้แสดงความเห็นต่อกรณีเดียวกัน โดยระบุว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากสื่อหลักมีไม่มากพอ ฉะนั้นจะต้องสร้างวัฒนธรรมแก้ข่าวปลอมโดยใช้ข้อมูลจริง และสร้างความอดทนอดกลั้นในการรับฟังข้อมูลของรัฐ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมในหมู่สื่อพลเมืองในการตรวจสอบคิดวิเคราะห์ ไม่ใส่ร้ายป้ายสี หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

ตัวแทนสื่อมวลชนสะท้อนความกังวลในความปลอดภัยสื่อภาคสนามต่อตัวแทนพรรคการเมือง โดยระบุว่าสื่อภาคสนามถูกคุกคามในหลายกรณีโดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่รัฐ และยังมีความกังวลในเรื่องต้นทุนที่สูงจากสัมปทานคลื่นที่ทำให้สื่อต้องแข่งกันทำกำไรมากกว่าการนำเสนอข่าวอย่างมีจรรยาบรรณ นอกจากนั้น กสทช. ยังมีท่าทีควบคุม กำกับดูแล มากกว่าการส่งเสริมศักยภาพสื่อ

ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคก้าวไกล มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรพูดคุยในระยายาว และรัฐควรจะปรับทัศนคติโดยมองที่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก มากกว่ามองว่ารัฐจะได้ผลประโยชน์หรือไม่ โดย นางสาววทันยา ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า รัฐควรจะยกเลิกการสัมปทานคลื่น เพื่อให้เกิดการค้ากำไรน้อยลง และ กสทช. ควรจะมีการปรับปรุงให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชนเข้ามาทำหน้าที่ และปรับกฎระเบียบ เพื่อเอื้อให้เกิดการผลิตสื่อที่สร้างสรรค์มากขึ้น

Related Posts

Send this to a friend