POLITICS

‘นราพัฒน์’ ยินดี ‘มาดามเดียร์’ ประกาศชิงตำแหน่งหัวหน้าประชาธิปัตย์

‘นราพัฒน์’ ยินดี ‘มาดามเดียร์’ ประกาศชิงตำแหน่งหัวหน้า ปชป. พร้อมชวนร่วมทีมหากได้เป็นหัวหน้าพรรค พร้อมฟื้นศรัทธา ปรับแผนสื่อสารลุยโซเชียล ไม่กังวลถูกดูถูกพรรคแมลงสาบ แปลว่าฆ่าไม่ตาย มีตกต่ำ มีรุ่งโรจน์ แต่เมื่อชาติวิกฤตผู้คนไว้ใจประชาธิปัตย์เสมอ

วันนี้ (1 ธ.ค. 66) นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะมีการเลือกตั้งภายในพรรค ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ให้สัมภาษณ์เปิดใจกับ The Reporters ถึงความพร้อม แนวทางการพัฒนาฟื้นฟูพรรค และความรู้สึกหลัง น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ ประกาศท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย

นายนราพัฒน์ ระบุว่า ตนเองรู้สึกดีที่ น.ส.วทันยา ประกาศลงสมัครตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย เหมือนพรรคต้องการความเปลี่ยนแปลง และมีคนรุ่นใหม่อยากเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค เป็นผู้บริหารพรรค เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเรื่องนี้เป็นเจตนารมย์ของตนเองตั้งแต่แรก เพราะตั้งแต่ครั้งแรกไม่มีใครกล้าเปิดตัว ไม่มีใครกล้ารับตำแหน่ง ไม่มีใครกล้าที่จะอาสา ตนเองจึงคุยกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ว่าขออาสาเอง เพราะได้สัมผัสกับบรรยากาศในพรรคและพี่น้องประชาชนผู้สนับสนุนพรรค ต่างเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเรียกร้องสิ่งใหม่ แต่ไม่มีใครต่อว่าว่าคนในพรรคหรือพรรคประชาธิปัตย์ไม่ดี มีแต่คนชื่นชม เพียงแต่ขั้นตอนวิธีการในการแข่งขันทางการเมือง ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปของการสื่อสารกระแสโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ต่างๆ ทางการเมืองต้องเปลี่ยนไปด้วย พรรคต้องการคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจเรื่องการตลาด เรื่องโซเชียลมีเดีย เมื่อในวันนั้นมันเงียบตนเองจึงอาสามาลง มาถึงวันนี้เป็นการเลือกครั้งที่สามเนื่องจากสองครั้งองค์ประชุมไม่ครบ

“พอมาดามเดียร์เปิดตัว เราก็รู้สึกว่านี่แหละน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะพรรคประชาธิปัตย์จุดแข็งคือเป็นประชาธิปไตย ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นการที่มีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ เสนอตัวเข้ามา ผมคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดี และยินดีที่จะเข้าสู่การแข่งขัน” นายนราพัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการกอบกู้พรรคในสถานการณ์ที่ท้าทายที่สุดช่วงหนึ่งของประชาธิปัตย์ จากที่เคยรุ่งโรจน์ในอดีต นายนราพัฒน์ ยอมรับว่าจะเป็นงานที่เหนื่อยและต้องทุ่มเท ใช้เวลา ต้องเข้าใจระบบ วัฒนธรรมองค์กร ประเพณี และต้องเสริมการสื่อสารไปยังนอกองค์กรให้มากขึ้น แม้ในอดีตพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นพรรคที่สื่อสารกับประชาชนได้ดีที่สุด ผ่านเวทีปราศรัยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่จุดแข็งในวันนั้นกลับเป็นจุดที่ประชาธิปัตย์ต้องปรับปรุงและพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพราะผู้คนมีพฤติกรรมการรับข้อมูลทางการเมืองที่เปลี่ยนไปแล้ว โซเชี่ยลมีเดีย สามารถสื่อสารข้อมูลไปถึงประชาชนเป็นแสนเป็นล้านคนได้ในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้นต้องนำจุดแข็งในเรื่องการปราศรัย พูดจากับประชาชน การตรวจสอบสมัยเป็นฝ่ายค้าน และผลงานสมัยรัฐบาล สร้างเนื้อหาและสื่อสารไปถึงประชาชนให้กระชับและดึงดูด ตรงเป้าตรงจุด ใช้ระบบ Social Listening ฟังความต้องการของประชาชนมาประกอบด้วย ใช้หลักการตลาดมานำ

นอกจากนั้นอาจจะมีการปรับกฎกติกา ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานในพรรคได้เห็นว่าสามารถทำงานอะไรได้บ้าง และจะมีโอกาสเติบโตในพรรคได้หรือไม่ จะทำให้คนที่มีความสนใจทางด้านการเมืองและศรัทธาในอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์กลับมา

ส่วนที่มีคำปรามาสว่าพรรคสิ้นสภาพ เป็นพรรคแมลงสาบ นายนราพัฒน์ กล่าวว่า คำว่าแมลงสาบ ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่เขาใช้กระแสโซเชียลยัดเยียดให้เราเป็น แล้วเราไม่สามารถโต้ตอบเพื่อไปกลบกระแสเหล่านั้นได้ ก็จะถูกบันทึกทำให้คนจดจำ จริงๆ คำนี้น่าจะมาจากการที่พรรคเราไม่มีวันตาย คือตายยาก แล้วมันเป็นข้อดีหรือข้อเสีย มีช่วงรุ่งโรจน์ ช่วงตกต่ำ มีคนออก มีคนเข้า มีช่วงหนึ่งเหลือต่ำ 10 หรือมีช่วงหนึ่งขึ้นมาเป็นหลักร้อย มันไม่ดีตรงไหน พรรคประชาธิปัตย์ มีความหลากหลายเป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับกระแสความรู้สึก วันหนึ่งโดนใจประชาชน ทำงานดี ประชาชนก็สนับสนุน เมื่อครั้งประเทศมีวิกฤตเศรษฐกิจทั้งต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์ ประชาชนก็เรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลมาแก้ปัญหา เพราะเราเป็นคนเก่ง คนดี คนซื่อสัตย์สุจริต ยืนอยู่บนอุดมการณ์ประชาธิปัตย์

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความกังวลว่าพรรคจะแตกเป็นเสี่ยงๆ หลังการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในวันที่ 9 ธ.ค.นี้อีกหรือไม่ นายนราพัฒน์ ระบุว่า เรื่องนี้ต้องถามคนในพรรคประชาธิปัตย์ว่าพวกเรารักพรรคหรือรักตัวบุคคล ถ้าเรารักพรรคก็ต้องทำให้พรรคเจริญก้าวหน้า สิ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าเราแตกแยกคือเราขาดวินัยหรือเปล่า พรรคประชาธิปัตย์มีประชาธิปไตยในพรรค เรามีความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่มีใครสั่งใครได้ เพราะเราไม่มีเจ้าของ แต่เมื่อความคิดเห็นตกผลึกเป็นมติพรรคแล้ว คุณมีวินัยที่จะเคารพมติพรรคหรือไม่ ถ้าเชื่อและเคารพในมติพรรคที่แม้จะขัดใจต้องอดทนเก็บไว้และให้ประชาธิปัตย์เดินไปตามเสียงข้างมาก แต่ถ้าออกมาโวยวายแสดงการไม่ยอมรับมติพรรค ก็ทำให้คนข้างนอกมองว่าเราทะเลาะกัน เราต้องทำให้พรรคมีเอกภาพ รักษาบรรยากาศให้พรรคเดินหน้า

นายนราพัฒน์ ยอมรับว่า ต้องการเข้ามากอบกู้วิกฤตพรรค แต่การเมืองสมัยใหม่ที่ผู้นำมีกระแส มีจุดเด่น เป็นที่รู้จัก ยอมรับกับคนในพรรคและประชาชนข้างนอกเป็นเรื่องสำคัญ ตนเองก็ไม่รู้ว่าเมื่อเป็นหัวหน้าพรรคแล้วจะสามารถสร้างความโดดเด่นนั้นได้มากน้อยเพียงไหนหรือไม่ แต่ตนตั้งใจว่าในเวลา 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง จะปัดกวาดเช็ดถู ทำให้ดี ทำให้สะอาด สร้างบรรยากาศให้ดี หากผ่านไปแล้วระบบต่างๆ เอื้อให้คนที่โดดเด่น คนรุ่นใหม่เข้ามา ตนเองพร้อมถอยออกมา

“ถ้าปีครึ่งผ่านไป ระบบเอื้อให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามา ระบบการสื่อสารดีขึ้น ผมพร้อมจะถอยออกมา วันนั้นอาจมีมาดามเดียร์ ดร.เอ้ หรือคนใหม่ๆ หรืออาจเป็นคนเก่าที่ออกไป กลับมาสร้างบรรยากาศ เขาอาจมีพลัง มีคนที่สนับสนุน ผมก็พร้อมที่จะถอย แต่ถ้าถึงวันนั้นทุกคนเกิดบอกว่า ผมทำได้ดีแล้ว ผมโดดเด่นในสังคม พี่น้องประชาชนยอมรับ จะเป็นผมอีกรอบผมก็คงไม่ปฏิเสธ” นายนราพัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่าหลังมาดามเดียร์ประกาศตัวชิงตำแหน่ง ได้พูดคุยกับมาดามเดียร์แล้วบ้างหรือไม่ นายนราพัฒน์ กล่าวว่า ตนเคยคุยกับมาดามเดียร์ก่อนหน้านั้นนานแล้ว ตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง จริงๆ ท่านก็เป็นคนที่มีความคิดทันสมัย เป็นคนรุ่นใหม่และมีความพร้อมในหลายเรื่อง ทั้งด้านฐานะ และกระแสทางสังคม อย่างที่บอกว่าท่านเข้ามาในพรรคแค่ปีกว่าๆ แต่ข้อบังคับพรรคก็เขียนว่าการเข้าเป็นผู้บริหารพรรค จะต้องเป็นสมาชิกพรรค 5 ปี เพราะฉะนั้นการที่ท่านจะเข้ามา อาจมีความลำบากพอสมควร อาจจะต้องยกเว้นข้อบังคับ

“ผมยืนยันว่ามาดามเดียร์ คือหนึ่งในคนที่ผมจะเชิญมาร่วมงาน ถ้าผมได้เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งอาจจะเชิญมาเป็นรองหัวหน้าพรรค ดูแลเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในพรรค โซเชียลมีเดียของพรรค เพราะเป็นงานถนัดของท่านอยู่แล้ว ก็ชวนกันมา หรือหากท่านจะชนะ ท่านก็ดำเนินการในแผนที่ท่านวางไว้ได้ ผมเชื่อว่าท่านก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่พร้อมพัฒนาพรรค“

นายนราพัฒน์ เป็น สส.พรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2544 ลงเลือกตั้ง สส.พิจิตร แทนคุณพ่อ นายไพฑูรย์ แก้วทอง ที่ขยับไปนั่งเก้าอี้ สส.บัญชีรายชื่อ เป็น สส.แบบแบ่งเขต 3 สมัย และ สส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 สมัย มักทำงานเบื้องหลัง เป็นรองเลขาธิการพรรคตั้งแต่สมัยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการพรรค จนถึงสมัยนายจุติ ไกรฤกษ์ และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในสมัยแรก จนขยับรับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ดูแลจังหวัดภาคเหนือ ในสมัยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ เป็นหัวหน้าพรรค

Related Posts

Send this to a friend