POLITICS

สมาคมลูกจ้างส่วนราชการการศึกษา เรียกร้องขอตำแหน่งภารโรงคืนโรงเรียน

สมาคมลูกจ้างส่วนราชการการศึกษา ยื่นหนังสือต่อ กมธ.การศึกษา เรียกร้องขอตำแหน่งภารโรงคืนโรงเรียนในสังกัด สพฐ. แก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากร

วันนี้ (1 ก.ย. 65) ที่อาคารรัฐสภา สมาคมลูกจ้างส่วนราชการการศึกษา ยื่นหนังสือต่อ รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล และ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศึกษากรณีเรียกร้องขอความเห็นใจจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อตำแหน่งภารโรงคืนให้โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรได้อย่างยั่งยืน

เนื่องจากในปี 2548 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐ โดยให้ยุบเลิกตำแหน่งลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการ ลาออกจากราชการ และเสียชีวิต จึงทำให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ไม่มีลูกจ้างประจำ ทำให้ขาดบุคลากรที่ทำหน้าที่สนับสนุนการจัดการศึกษา ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการศึกษาหลายประการ และทำให้การจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพตามที่สังคมคาดหวัง

จึงทำให้มีผลกระทบต่อสถานศึกษาดังนี้

  1. คุณภาพการศึกษาของนักเรียนที่เป็นผลผลิตสำคัญลดลง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำเนื่องจากครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา มีภาระบริหารจัดการเพิ่มขึ้น การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนลดลง
  2. นักเรียนขาดความมั่นใจ ขาดความปลอดภัยในการไป – กลับโรงเรียน และขณะอยู่ในโรงเรียน ในกรณีโรงเรียนอยู่ห่างไกล เปลี่ยวขาดครูชาย ไม่มีนักการภารโรง ดูแลความปลอดภัย และเวรยาม แม้แต่ในช่วงเวลากลางวัน
  3. เพิ่มภาระให้ครู และผู้บริหาร ต้องบริหารจัดการงานธุรการอาคารสถานที่ ความสะอาดห้องน้ำ อาคารเรียน สวนหย่อม ต้นไม้ แปลงเกษตรกรรม บั่นทอนเวลาจัดการเรียนการสอน
  4. เพิ่มภาระงบประมาณของโรงเรียน ในการจัดหาจัดจ้างบุคลากรภายนอก มาทำความสะอาด อยู่เวรยาม ดูแลอาคารสถานที่ ต้นไม้ถนน สนามกีฬา และงานอื่นๆสิ้นเปลืองงบประมาณทุกปี
  5. องค์กรหรือสถาบันโรงเรียน ไม่เข้มแข็ง ขาดปัจจัย และองค์ประกอบการบริหารจัดการ ไม่สามารถพัฒนาไปได้ด้วยดี ต้องเสียเวลากับการบริหารจัดงานพื้นฐานภายใน ไม่สามารถแข่งขัน หรือทัดเทียมกับองค์กรอื่นหรือองค์กรใหม่ เช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเอกชนได้
  6. ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน ไม่เชื่อมั่นในสถาบันการโรงเรียน พบข้อบกพร่อง ความไม่พอเพียงในการให้บริการ การให้ความสะดวกต่างๆ เมื่อเทียบกับที่อื่น หรือไม่ส่งเสริมชักชวนให้เด็กมาเรียน
  7. โรงเรียนขาดการพัฒนาทางกายภาพ ภูมิทัศน์ การขาดปรับปรุงตกแต่ง ไม่สะอาดร่มรื่นสวยงาม บรรยากาศส่งเสริมการเรียนการสอนไม่มี ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียน ตลอดจนผู้ปกครอง ชุมชนที่พบเห็น
  8. นักการภารโรงที่มีอยู่มีน้อย ขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน ภาระงานเพิ่มมากขึ้น ไม่มั่นใจในชีวิตการทำงาน คุณภาพการทำงานน้อยลง
  9. สถานศึกษาขาดคนทำหน้าที่พิทักษ์ รักษาทรัพสินของราชการ ให้ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า

รศ.ดร. สุรวาท กล่าวว่า ในนามกรรมาธิการการศึกษาสามัญ จะนำเรื่องนี้เข้าปรึกษาหารือ และอาจเสนอให้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปรึกษาว่าจะทำอย่างไร ให้คงอัตรานี้ต่อไป เพราะเกิดความเดือดร้อนมาก

นายวิชาญ ชัยชมภู นายกสมาคมลูกจ้างส่วนราชการการศึกษา กล่าวว่า ตั้งแต่มีมติมา รอบแรกไม่ได้รับความเดือดร้อนแต่ต่อมาผลกระทบเริ่มเพิ่มขึ้น ในปัจจุบันภารโรงอยู่ในสารระบบของ สพฐ. อยู่ประมาณ 10,000 กว่าคน วันนี้จึงมาทวงคืนตำแหน่งภารโรง ให้โรงเรียนที่ขาดแคลน ภาระจึงไปตกอยู่ที่โรงเรียน โรงเรียนจึงต้องจัดหางบประมาณ เช่นทำผ้าป่า หรืออะไรต่างๆ ที่ต้องไปขอทางผู้ปกครอง เพื่อนำมาจ้างภารโรง

“อยากให้รัฐใส่ใจและคืนตำแหน่งนักการ ภารโรงให้โรงเรียนทุกสังกัดและให้มีความมั่นคงและยั่งยืน” นายวิชาญ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend