ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญฯ แห่งเอเชีย ครั้งที่ 6

ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญฯ แห่งเอเชีย ครั้งที่ 6 กลางเดือน ก.ย.นี้ มุ่งเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ประสานตำรวจดูแลความปลอดภัย เปิดพื้นที่การชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพ
วันนี้ (1 ก.ค. 67) นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงข่าว การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ 6 โดยศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ของไทยเป็นเจ้าภาพเป็นครั้งแรก มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จาก 21 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม
นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สมาคมศาลรัฐธรรมนูญ มีสมาชิก 21 ประเทศ บางประเทศ ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีสถาบันเทียบเท่า สะท้อนว่าในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกมีศาลรัฐธรรมนูญ และจำเป็น เสมือนหนึ่งตัวสะท้อนของความเป็นประชาธิปไตย เป็นองค์กรที่รักษาดุลยภาค ระหว่างสถาบันนิติบริหารและสถานบันนิตบัญญัติ เพื่อปกป้องไม่ให้ผู้บริหาร และนิติบัญญัติที่มีเสียงข้างมาก ออกกฏหมายมาลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ทำตามหลักการนี้ ในการทำหน้าที่ตามหลักการ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม
“สมาคมศาลรัฐธรรมนูญแห่งเอเชียหรือ ACCC เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยไทยร่วมกับ 7 ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ อุซเบกิสถาน และไทย ก่อตั้งขึ้น และสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ มีการประชุมใหญ่ไปแล้ว 5 ครั้ง ในปี 2555 เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ และต่อมา เป็นตุรกี อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มองโกเลียและอินโดนีเซีย ส่วนไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวันนี้ 18- 21 ก.ย.นี้”
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การเป็นประธานการประชุม ไม่ใช่เรื่องง่าย ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจึงหมายความว่า ทั่วโลกเห็นความสำคัญของไทย สมาชิก 21 ประเทศ เห็นความสำคัญ โดยหัวข้อที่ตั้งไว้คือ ศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน : The Constitution Courts and Equivations in Strengthening Constitutional Justice for Sustainable Society เพื่อหารือว่าจะ ทำอย่างไรให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสถาบันที่ดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมความเป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ไม่ให้โค่นล้มได้ด้วยอำนาจนิยม ไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ และหวังว่าจะออกคำประกาศ หรือจุดมุ่งหมาย ดำรงไว้ซึ่งหลักนติธรรม ความเป็นกลางของตุลาการ สิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
นายนภดล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ต่างจากทุกครั้ง ท่านประธาน มีดำริให้เชิญขยายวงอีก 4 กลุ่ม เช่นกลุ่ม Venice Commission ซึ่งเป็นแม่แบบของตุลาการที่ให้อิสระ ยึดมั่นโดยหลักนิติธรรม กลุ่มลาติน กลุ่มอาฟริกาและยูเรเซีย ซึ่ง 4 กลุ่มตอบรับจะมาแล้ว และมีประธานที่ก่อตั้งมาร่วมด้วย จึงถือเป็นการประชุมระดับโลก
“ไม่ใช่การประชุมแค่เอเชีย แต่เป็นการประชุมระดับโลก เป็นการประชุมใหญ่กว่าทุกครั้ง เขาตอบรับมา หมายความว่าเขาให้ความสำคัญกับประเทศไทย ไทยจะได้ประโยชน์ทำให้ขึ้นอยู่บนจอเรดาร์โลก ตั้งแต่ปี 2558 อาจถูกมองว่าไม่มีประชาธิปไตย แต่เราทำหน้าที่นี้อยู่ แต่ความสนใจของคนภายนอกของศาลรัฐธรรมนูญมีน้อยลง ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำเกี่ยวกับกฏหมายในประเทศเท่านั้นแต่แลกเปลี่ยนกับกฏหมายรัฐธรรมนูญนานาชาติด้วย เราจะต่อยอดได้ เมื่อมีประเทศมาร่วมประชุมมากขึ้น ต่อยอดนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวย้ำ
นายนครินทร์ กล่าวด้วยว่า ทุกประเทศ มีศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีจะใช้ศาลฎีกา ทำหน้าที่พิจารณาคดีความ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ การประชุมครั้งนี้จึงคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ที่จะได้รับรู้ถึงบทาทของศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลก
ประธานศาลรัฐธรรม ไม่กังวลที่อาจจะมีประชาชนซึ่งไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญจะมาชุมนุมประท้วง โดยได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดูแลความปลอดภัย รวมถึงจัดพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“ทางเราประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้แล้วหากจะมีการชุมนุมประท้วง ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ เราไม่ห้าม แต่การจะมาไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอะไร ก็ไม่ควรกระทบสิทธิแขกที่จะมาเช่นไปกีดขวางรถ หรือยกป้ายประณาม อาจจะต้องพูดคุยกัน โดยหลักสากล อาจให้มีบริเวณประท้วงอาจจะมีและตำรวจรับมือได้ ฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วย ได้ปรึกษาหารือ ประสานความปลอดภัย เพราะทุกท่านเป็นตัวแทนของประเทศ ควรจะให้เกียรติเขาพอสมควร ถ้าจะประท้วงอยู่ในขอบเขต ให้ความมั่นคงดูแล เพราะแต่ละท่านที่มา เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เทียบเท่าประมุขของตุลาการ” ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการ กล่าวย้ำ โดยจะมีผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 350 คน ซึ่งมองว่าเป็นการประชุมระดับนานาชาติที่ใหญ่กว่าการประชุมเอเปค จึงเป็นครั้งแรกของไทยที่จะมีการประชุมลักษณะนี้จึงเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย