‘พิพัฒน์’ ชงค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท 10 จังหวัดนำร่องเข้า ครม.พรุ่งนี้
‘พิพัฒน์’ ชงค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท 10 จังหวัดนำร่องเข้า ครม.พรุ่งนี้ เตรียมปรับอีกรอบภายในสิ้นปี แจงขึ้นค่าแรงยกจังหวัดไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยง
วันนี้ (1 เม.ย. 67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวว่า กระทรวงแรงงานจะเสนอที่ประชุม ครม.ให้รับทราบในวันพรุ่งนี้ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 13 เม.ย.นี้ โดยยืนยันว่าตนเองไม่มีสิทธิเข้าประชุมในคณะกรรมการไตรภาคีที่เป็นผู้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ทำได้อย่างเดียวคือ การหารือกับฝ่ายข้าราชการโดยเฉพาะปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อส่งข้อมูลไปให้คณะอนุกรรมการไตรภาคี ศึกษา ว่ามีอาชีพใด สาขาใดบ้างที่ควรจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท
“ในยุคผมจะไม่ใช้ข้อมูลเดิมประกาศค่าแรงปีละหน เพราะแต่ละปีเศรษฐกิจเราไม่นิ่ง เราจะศึกษาและเก็บตัวอย่างอีก 2-3 เดือนข้างหน้า มีอุตสาหกรรมใดที่นอกเหนือจากการท่องเที่ยวที่เจริญเติบโต เพื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำ”
นายพิพัฒน์ ย้ำว่ามิติใหม่ ไม่จำเป็นต้องประกาศค่าจ้างขั้นต่ำปีละหนึ่งครั้ง ควรจะประกาศได้มากกว่านั้น โดยในปีนี้คาดว่าจะประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทอีกครั้ง ในอุตสาหกรรมเพิ่มเติมที่ได้ทำการศึกษาภายในสิ้นปีนี้ โดยหารือกับคณะกรรมการไตรภาคี โดยคณะอนุกรรมการไตรภาคีในแต่ละจังหวัดก็จะต้องทำงาน หนักขึ้น
ส่วนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะ 10 จังหวัด และเฉพาะบางอำเภอที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นายพิพัฒน์ชี้แจงว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั้งจังหวัด เพราะเป็นความสูงเสี่ยงสำหรับธุรกิจ SMEs ซึ่งถือครองผู้ใช้แรงงานกว่า 90% และเมื่อธุรกิจ SMEs อยู่ไม่ได้ แรงงานไม่มีงานทำ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้ที่พรรคก้าวไกลตั้งคำถามถึงหลักเกณฑ์ในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 10 จังหวัด เป็นเพราะเราพยายามเอาอาชีพที่ฟื้นตัวแล้ว โดยเหตุผลที่กำหนดว่าจะต้องเป็นโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป เพราะตั้งแต่ปี 2566 มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80% เป็นบริษัทใหญ่น่าจะได้รับเกียรติในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และที่ยังไม่ประกาศในสาขาอื่น เพราะยังไม่มีความมั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ