POLITICS

สนทช. เน้นบูรณาการจัดการน้ำในภูมิภาคเอเชีย เตรียมดันเรื่องเข้า ครม. หนุนไทยร่วมเป็นสมาชิก “สภาน้ำแห่งเอเชีย”

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมบอร์ดบริหารสภาน้ำแห่งเอเชีย หรือ Board of Council of AWC ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนร่วมกับสภาน้ำแห่งเอเชีย (Asia Water Council: AWC) ณ เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ประเทศไทยได้แสดงจุดยืด และความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้ สภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) เติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต ในฐานะของเครือข่ายด้านน้ำระดับโลก โดยเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ระหว่างประเทศสมาชิก สร้างการรับรู้ด้านปัญหาน้ำในภูมิภาคเอเชียแก่นานาชาติ รวมถึงมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมอันจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่การบริการจัดการน้ำของเอเชียอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ได้เน้นย้ำแก่ประเทศสมาชิกในครั้งนี้ คือ ความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกัน ที่นับว่าเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องตามแนวคิดหลักที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งแต่ละคำมีความหมายเชื่อมโยงไปถึงยุทธศาสตร์ของไทยในฐานะประธาน และทิศทางสำคัญในการขับเคลื่อนอาเซียน ได้แก่ ความยั่งยืน ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคต โดยความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากการที่ประเทศสมาชิกต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งภาคีภายนอกภูมิภาคและประชาคมโลก เพื่อการก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีพลวัต สู่อนาคตที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ อันจะนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีและสันติสุขของประชาชนในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับสภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกําไร และเป็นเครือข่ายของสภาน้ำโลก โดยในวันอังคารหน้า (1 ต.ค.62) สทนช.จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย อย่างเป็นทางการ โดยการเข้าเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) จะทําให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ 4 ด้านหลัก คือ
1. มีสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหาร การสมัครเป็นกรรมการบริหาร และกรรมการวิชาการ รวมทั้งสมัครแข่งขันเป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการ
2.เพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การ พัฒนาขีดความสามารถงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรม การแสดงบทบาทของไทยในการ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาด้านน้ำ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย
3.ส่งเสริมและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญไทยในการเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการต่าง ๆ
4. สร้างเครือข่ายภาคีด้านน้ำในระดับภูมิภาคให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น

Related Posts

Send this to a friend