POLITICS

“ปิยบุตร” ไม่เห็นด้วยสภาฯ ผ่านร่าง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ชี้นายฯ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่เป็นไปตาม รธน.

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหมไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ด้วยคะแนน 376 ไม่เห็นด้วย 70 และงดออกเสียง 2

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ตั้งข้อสังเกตการถวายคำแนะนำเพื่อตราพระราชกำหนด ต้องอยู่ในเหตุหนึ่งเหตุใดใน 4 เหตุ คือ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อรักษาป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้การตราพระราชกำหนด ทำได้เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน แต่พระราชกำหนดดังกล่าวที่คณะรัฐมนตรีเสนอมา ไม่อธิบายว่ามีความเร่งด่วนฉุกเฉินอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่างไร ณวันที่คณะรัฐมนตรีออกพระราชกำหนดฉบับนี้มีเรื่องอะไรที่ ที่กระทบต่อการถวายอารักขาการถวายพระเกียรติและการถวายความปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ และไม่ได้ชี้แจงว่าหากไม่ตาพระราชกำหนดนี้ในทันทีจะส่งผลกระทบร้ายแรงอะไรตามมา

นายปิยะบุตรระบุว่า ตามพระราชบัญญัติการจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม 2551 ยืนยันไว้ว่ากระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่พิทักษ์รักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมมีทุกเหล่าทัพ ดังนั้นจากกฎหมายนี้ กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่และอำนาจต้องจัดการพิทักษ์รักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติ ก็สามารถสั่งการได้อยู่แล้ว และในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์กลายเป็นนิติบุคคล มีสถานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงกลาโหม มีการแก้ไขจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม 2556 สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งทำเป็นพระราชบัญญัติ ต่อมาในปี 2560 มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ สมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนการเลือกตั้งก็ทำเป็นพระราชบัญญัติเช่นเดียวกัน ต่อมาหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ได้โอนย้ายไปสังกัดส่วนราชการในพระองค์ ก็ทำโดยการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมในปี 2561 เป็นพระราชบัญญัติเช่นเดียวกัน

การตั้งข้อสังเกตนี้จึงสะท้อนปัญหาการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารของคณะรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรี กับการมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ที่เคยใช้มา 5 ปี ซึ่งวันนี้ทุกอย่างเข้าสู่ระบบปกติแล้ว มีรัฐธรรมนูญ 2560 เต็มรูปแบบและมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว พลเอกประยุทธ์ไม่มีมาตรา 44 อีกแล้ว ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะต้องไม่ลืมว่าการใช้อำนาจจะต้องเคารพรัฐธรรมนูญและรอบคอบมากกว่าเดิม ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ทำ พลเอกประยุทธ์จะเคยชินกับการใช้ช่องทางมาตรา 172 เหมือนกับมีอำนาจตามมาตรา 44 ไม่ได้เพราะหากปล่อยผ่านจะเท่ากับว่าสภากำลังสนับสนุนการใช้อำนาจของพลเอกประยุทธ์ที่ใช้อำนาจแบบรวดเร็วเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิด

นายปิยบุตรระบุว่า การตราพระราชกำหนดฉบับนี้ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด พลเอกประยุทธ์ในอดีตที่ผ่านมาได้รับการยกเว้นจากรัฐธรรมนูญเสมอจนกระทั่งถึงวันนี้สภาผู้แทนราษฎรจะยินยอมให้พลเอกประยุทธ์เป็นข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญอีกต่อไปหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นติดต่อกันหลายเรื่องเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่านี่คือการแสดงอาการของโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ พรรคอนาคตใหม่และตัวเองยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การอภิปรายของตัวเองในวันนี้เป็นไปเพื่อยืนยันในอำนาจของสภาตามรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร เพื่อรักษาระบบรัฐสภาและคือการปกป้องรักษาระบอบประชาธิปไตย การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีไม่ใช่ชี้หน้าด่าคนอื่นว่าไม่จงรักภักดี ด้วยเหตุผลดังกล่าวทั้งหมดส่วนตัวจึงเห็นว่าพระราชกำหนดฉบับนี้ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนหรือส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนตัวในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถลงมติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ได้

Related Posts

Send this to a friend