HUMANITY

UNHCR เผยตัวเลขผู้พลัดถิ่นทั่วโลกสูงเกิน 70 ล้านคน เป็นสถิติสูงสุดเท่าที่ UNHCR เคยประสบมาในระยะเวลา 70 ปี

20 มิถุนายน เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก โดยในปี 2562 นี้ UNHCR ได้ออกรายงานประจำปีหรือ Global Trends ฉบับล่าสุด ได้เปิดเผยข้อมูลว่ามีจำนวนผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่น ทั่วโลกสูงถึง 70.8 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 2.3 ล้านคน ภายในระยะเวลาหนึ่งปี และเทียบได้กับขนาดประชากรของประเทศไทย และประเทศตุรกี โดยตัวเลขดังกล่าว ยังไม่รวมจำนวนผู้พลัดถิ่นทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการณ์ผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ในประเทศเวเนซูเอล่า ซึ่งสถิติรวมจากรัฐบาลต่างๆ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือชาวเวเนซูเอล่าระบุว่า ในขณะนี้มีประชากรจำนวนมากกว่า 4 ล้านคนที่เดินทางออกจากประเทศ ส่งผลให้วิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นการผลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งล่าสุด

ในทุกวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะเกิดในประเทศใด ยาวนานแค่ไหน มีความจำเป็นที่จะต้องเน้นย้ำถึงการมอบทางออกที่ถาวร และลดอุปสรรคในการกลับประเทศของตนอย่างสมัครใจ การแก้ปัญหาวิกฤติโลกในครั้งนี้เป็นเรื่องซับซ้อนที่ UNHCR ยังคงมุ่งมั่นช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และต้องการความร่วมมือจากทุกประเทศเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข วิกฤตินี้ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

ทั้งนี้ในจำนวนผู้พลัดถิ่น 70.8 ล้านคนตามรายงานประจำปีนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท โดยกลุ่มแรก คือ ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเองเนื่องจากความหวาดกลัวความขัดแย้ง สงคราม และการถูกประหัตประหาร หรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต จากปี พ.ศ. 2560 มีจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5 แสนคนภายในระยะเวลาหนึ่งปี ส่งผลให้จำนวนผู้ลี้ภัยสูงถึง 25.9 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2561 ในจำนวนนี้ 5.5 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ที่อยู่ในความคุ้มครองของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ หรือ UNRWA
กลุ่มที่สอง คือ ผู้ขอลี้ภัย หมายถึง ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ยังไม่ได้รับการรับรอง แต่รอสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2561 มีผู้ขอลี้ภัยทั่วโลกเป็นจำนวน 3.5 ล้านคน

และกลุ่มสุดท้ายที่เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ ผู้พลัดถิ่นที่ยังอยู่ภายในประเทศของตน ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 41.3 ล้านคน โดยกลุ่มคนเหล่านี้เรียกว่า ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced People หรือ IDPs)

“สิ่งที่เราเห็นจากสถิติเหล่านี้ เป็นข้อยืนยันถึงแนวโน้มว่าจะมีผู้คนที่ต้องหลบหนีจากสงคราม ความขัดแย้ง และการประหัตประหาร เพื่อหาความปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว ขณะที่การพูดถึงเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้อพยพมักจะสร้างความแตกแยก แต่เราก็ได้เห็นน้ำใจและความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันที่หลั่งไหลให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะในชุมชนที่มอบที่พักพิงให้แก่ผู้ลี้ภัยจำนวนมาก นอกจากนี้เรายังได้เห็นความร่วมมือที่คาดไม่ถึงจากภาคส่วนใหม่ๆ เช่น นักพัฒนาชุมชน ภาคธุรกิจและเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไป ที่สะท้อนถึงและดำเนินงานตามเจตนารมณ์ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees) เราต้องถือปฏิบัติจากสิ่งดีๆ เหล่านี้และสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เพื่อช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์หลายพันคนที่ถูกบังคับให้จากบ้านมาในแต่ละวัน” กรันดี กล่าว

ที่มา: UNHCR News

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Send this to a friend