รู้จัก และเข้าใจ “การคุ้มครองเงินฝาก” รู้จักสิทธิของตนเอง
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA ให้ข้อมูลกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเงินฝาก ว่าครอบคลุมเงินฝากประเภทใดบ้าง เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากเงิน ได้เข้าใจถึงสิทธิของตนเองในการได้รับความคุ้มครองเงินฝาก อีกทั้งมีข้อมูลเกี่ยวกับ สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครอง รวมถึงหลักเกณฑ์ และขั้นตอนการคืนเงิน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ใกล้ตัวทุกคน และเป็นประโยชน์ในการเตรียมพร้อมรับมือ หากในอนาคตสถาบันการเงินตามกฎหมาย ว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือเกิดวิกฤตทางการเงินขึ้น
สำหรับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายความมั่นคงทางการเงิน ร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ฝากเงิน ว่าจะได้รับความคุ้มครอง ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก และได้รับเงินฝากคืนภายในวงเงิน ที่กำหนดอย่างรวดเร็ว กรณีที่สถาบันการเงิน ที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้ฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฝากรายย่อยที่เป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ และบรรเทาความตื่นตระหนก ไม่ให้ผู้ฝากพากันไปแห่ถอนเงิน ดังเช่นเหตุการณ์ในอดีตอย่างวิกฤตต้มยำกุ้ง
ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นวงเงินที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยจะมีผลเมื่อสถาบันการเงิน ภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากสามารถมั่นใจว่าจะได้รับเงินฝากคืน จากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในวงเงินสูงสุดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
โดยวงเงินคุ้มครองจะนับในลักษณะต่อ 1 รายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน 1 แห่ง (ไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี) กรณีที่ผู้ฝากมีหลายบัญชี ในสถาบันการเงิน 1 แห่ง จะต้องนำเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) ในทุกสาขาและทุกบัญชี มาคำนวณทั้งหมด และภายใน 30 วัน หลังจากสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต สคฝ.จะจ่ายเงินคุ้มครองผ่านระบบ PromptPay ที่ผูกบัญชีกับเลขประจำตัวประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล หากไม่ได้ลงทะเบียน PromptPay จะจ่ายคืนด้วยเช็คไปยังที่อยู่ทะเบียนบ้าน หรือจ่ายคืนด้วยวิธีการอื่น ตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับขั้นตอนการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเป็นไปตาม มาตรา 52 และ 53 แห่ง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551
ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีทางการเงิน ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ฝากเงินควรทราบว่า ผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทใดบ้าง ที่ได้รับความคุ้มครอง นั่นก็คือ เงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงิน ที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ต้องเป็นสกุลเงินบาท และต้องเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก และ 5.ใบรับฝากเงิน
อย่างไรก็ตามมีผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเงินฝากบางประเภทที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เงินลงทุนในตราสารต่างๆ เช่น พันธบัตร,หุ้นกู้ ,หน่วยลงทุน (SSF, RMF),เงินฝากในสหกรณ์ ,แคชเชียร์เช็ค ,ตั๋วแลกเงิน,เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
ผู้ฝากยังสามารถฝากเงินอย่างมั่นใจ ด้วยการเลือกฝากเงินและดำเนินธุรกรรม กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 ปัจจุบันสถาบันการเงิน ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองเงินฝาก มีจำนวนรวมทั้งหมด 32 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 17 แห่ง สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 11 แห่ง บริษัทเงินทุน 1 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง จะเห็นได้ว่าการคุ้มครองเงินฝาก ไม่ได้เพียงมีประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน แต่ยังช่วยสร้างความเข้มแข็ง ให้กับสถาบันการเงิน ไปจนถึงการช่วยรักษาเสถียรภาพ ของระบบสถาบันการเงินด้วย
ปัจจุบันการฝากเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อาจไม่ใช่ทางเลือกในการลงทุนอันดับต้นๆ เพราะทุกคนมีวัตถุประสงค์ ในการออมเงินแตกต่างกันไป ทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีทางเลือกในการลงทุนมากมาย นอกเหนือจากการฝากเงิน แต่ไม่ว่าจะเลือกลงทุนด้วยวัตถุประสงค์ใด ก็ควรวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ รวมถึงนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาควบคู่กับอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับเพื่อประโยชน์สูงสุด