อาจารย์คณะนิติศาสตร์กล่าวว่า ข้อสังเกตในประการที่ 3 ในหนังสือสั่งการของอธิบดีกรมการปกครองฉบับนี้ เป็นเรื่องของ การเพิ่มเติมปัญหาที่ถกเถียงกันในพื้นที่เกี่ยวกับสิทธิในสัญชาติไทยแบบไม่มีเงื่อนไขของชาวเขาและบุคคลบนพื้นที่สูงที่เสียชีวิตไปก่อนที่จะได้รับการลงรายการสัญชาติไทยตามระเบียบ 2543 ซึ่งบุตรก็น่าจะสืบสิทธิในสัญชาติไทยนี้ได้เลย เพราะคนดั้งเดิมย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักกฎหมายสัญชาติที่ชัดเจน แต่ปัญหาที่เกิดเป็นเรื่องของการตกหล่นหรือการบันทึกผิดทางทะเบียนราษฎร ทั้งที่มีข้อเท็จจริงที่ฟังได้แล้วว่า เป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดแบบไม่มีเงื่อนไข หนังสือสั่งการฉบับนี้ของกรมการปกครองได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนเพื่อรับรองสิทธิของบุตรของคนดั้งเดิมดังกล่าว แม้บุพการีจะเสียชีวิตลงแล้ว จึงไม่อาจมาร้องขอลงรายการสัญชาติไทยได้เอง การใช้พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ หรือกระบวนการประชาคมหมู่บ้าน หรือคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อยืนยันว่า เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย แทนหลักฐานการเกิด ก็เป็นได้ เมื่อฟังว่า บุพการีที่ตายลงเป็นคนที่เกิดในประเทศไทย บุตรหลานก็ย่อมจะสืบสิทธิในสัญชาติไทยนี้ได้ ด้วยการใช้กฎหมายสัญชาติและกฎหมาย การทะเบียนราษฎรที่เข้าใจในปัญหาของคนบนดอยดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นใช้การแปลงสัญชาติเป็นไทยเพื่อผู้เฒ่าไร้สัญชาติบนดอยที่พอฟังได้ว่า เกิดในประเทศไทยก่อนความสมบูรณ์ของระบบการทะเบียนราษฎรจะเกิดขึ้นจริงบนพื้นที่สูงของประเทศไทย
รศ.พันธุ์ทิพย์กล่าวว่า ข้อสังเกตในประการที่ 4 ที่พบในหนังสือสั่งการฉบับนี้ ก็คือ การสร้างความมั่นใจที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะใช้ระเบียบ 2543 เป็น “วิธีพิจารณาความสัญชาติแบบพิเศษสำหรับชาวไทยภูเขาและบุคคลบนพื้นที่สูงในทะเบียนประวัติ” ซึ่งก็คือ เหล่าคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ติดแผ่นดินไทยมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2515 ซึ่งน่าจะมิใช่คนอพยพเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ยังตกหล่นจากการรับรองสิทธิในสัญชาติไทย ในปัจจุบัน
อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเราพบว่าผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่เป็นชาวเขาหรือบุคคลบนพื้นที่สูงก็มีไม่มาก ดังที่เคยเป็นอยู่ในช่วง พ.ศ.2543 จนต้อง มีระเบียบ 2543 หากพวกท่านเหล่านี้ยังตกหล่นอยู่ในความไร้สัญชาติ อาทิ ผู้เฒ่าในบ้านกิ่วสะไต อ.แม่จัน จ.เชียงราย การเข้าใช้ระเบียบ 2543 อย่างเร่งด่วนก็จำเป็น เพื่อที่การดูแลท่านทั้งหลายในเวลาของชีวิตที่เหลือไม่มากนัก แต่ในส่วนของบุตรหลานที่เกิดหลังจากวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 ซึ่งถือเป็นเวลาที่เริ่มมีการอพยพของชาวเขาหรือบุคคลบนพื้นที่สูงจากนอกประเทศไทยเข้ามาตั้งบ้านเรือนในประเทศไทย ก็จะถูกเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทยได้เลย ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบียบ 2543 อีกครั้ง ด้วยการสั่งการในประการที่ 4 นี้ การจัดการปัญหาความเป็นคนต่างด้าวเทียมของคนดั้งเดิมบนดอยและบุตรหลาน ก็คงทำให้เจ้าหน้าที่ของ อำเภอหรือเขตหรือเทศบาลมีความสบายใจขึ้นในการดูแลคนที่มีพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์นัก เพราะเป็นผู้เฒ่าที่เกิดก่อนระบบการทะเบียนราษฎรในประเทศไทย หรือที่เกิดในระหว่างความยังไม่สมบูรณ์ของระบบการทะเบียนราษฎรดังกล่าว
“ในท้ายที่สุด ดิฉันเดาว่า อธิบดีกรมการปกครองก็น่าจะมีหนังสือสั่งการฉบับตำราออกมาเพื่อกำหนดแนวคิดและวิธีปฏิบัติในอีก 2 กรณีที่มักเกิดในเหล่าผู้เฒ่าไร้สัญชาติบนดอย คือ กรณีที่มีเอกสารราชการฉบับหนึ่งระบุว่า เกิดในประเทศไทย แต่อีกฉบับหนึ่งระบุว่า เกิดในต่างประเทศ และ กรณีที่เกิดในต่างประเทศ แต่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศมานมนานจนมีบุตรหลานเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด ซึ่งกรณีที่เอกสารขัดแย้งก็น่าจะยังใช้ระเบียบ 2543 ได้ ในขณะที่กรณีของคนเกิดนอกประเทศไทย ก็คงหนีการรับรองสัญชาติไทยภายหลังการเกิดโดยการสมรสหรือโดยการแปลงสัญชาติไม่พ้น การกำหนดแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนโดยหนังสือสั่งการ หรือระเบียบ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำในไม่ช้า เพื่อที่ผู้เฒ่าไร้สัญชาติใน 2 สถานการณ์ดังกล่าวมา จะได้รับการดูแลเช่นกัน” รศ.พันธุ์ทิพย์ กล่าว