HEALTH

แพทย์จุฬาฯ ยืนยันดอกต้นตีนเป็ดแค่เหม็น ไม่ส่งผลต่อระบบหัวใจ

เกสรดอกตีนเป็ดอาจทำให้ระคายเคืองในบางราย แต่คนไทยแพ้เกสรดอกไม้น้อยกว่าต่างประเทศเนื่องจากมีฤดูกาลน้อย ช่วงฤดูหนาวเน้นห่วงเรื่องผิวแห้งมากกว่า

จากข้อความที่ส่งต่อกันทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ระบุว่า ดมกลิ่นดอกตีนเป็ด เสี่ยงหัวใจล้มเหลว The Reporters ได้ตรวจสอบไปยัง รศ.นพ.นภดล นพคุณ อาจารย์พิเศษ สาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า

รศ.นพ.นภดล กล่าวว่า การกล่าวอ้างว่า การสูดดมดอกตีนเป็ด (ต้นตืนเป็ด) หรือ ต้นพญาสัตบรรณ ที่มักออกดอกในช่วงหน้าหนาว ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด บริเวณท้ายทอยจะมีอาการตึง และส่งผลต่อระบบการหมุนเวียนของเลือด จนทำให้ระบบหัวใจล้มเหลวได้ เนื่องจามีกสารพิษ “ไซยาไนด์” อยู่ในดอกตีนเป็ดซึ่งมีผลต่อหัวใจโดยตรง และปล่อยออกมาในเวลากลางคืนนั้น “ไม่เป็นความจริง” เพราะ ดอกต้นตีนเป็ดไม่มีได้มีพิษร้ายแรง ถึงขึ้นทำให้หัวใจวายเสียชีวิต จะมีแค่กลิ่นที่เหม็นทำให้รำคาญ หรือรู้สึกไม่ชอบเท่านั้น และกลิ่นนี้บางคนก็ว่าหอมด้วยซ้ำ

“ในทางการแพทย์ กลิ่นของดอกตีนเป็ดไม่ได้มีผล หรือไม่สามารถซึมเข้าไปในระบบภายใน กระทั่งทำให้หัวใจล้มเหลวได้ มันจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด แต่เกสรของดอกตีนเป็ด จะทำให้เกิดการแพ้ระคายเคืองที่ผิวหนังได้เท่านั้น” รศ.นพ.นภดล กล่าว

ส่วนคำเตือนเกี่ยวกับการแพ้เกสรดอกไม้ในเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวนั้น รศ.นพ.นภดล กล่าวว่า บ้านเราไม่เหมือนกับต่างประเทศ ที่มีการผลัดเปลี่ยนฤดูกาลที่หลากหลาย ทำให้มีละอองเกสรดอกไม้หลายชนิดที่ออกดอกตามฤดูกาลนั้นๆ นั่นจึงทำให้เกิดการแพ้เกสรดอกไม้ ได้ค่อนข้างง่ายกว่าคนไทย ซึ่งฤดูกาลเปลี่ยนไม่มากนัก หรือมีอยู่ไม่กี่ฤดูกาล ดังนั้นจึงพบประวัติการแพ้ละอองเกสรดอกไม้ค่อนข้างน้อย

อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.นภดล ได้ฝากคำเตือนว่า ในช่วงฤดูหนาว สิ่งสำคัญสำหรับคนไทยคือการที่ผิวแห้งซึ่งพบได้บ่อยกว่า ดังนั้นแนะนำให้ลดการอาบน้ำอุ่นให้น้อยลง ลดการฟอกสบู่ให้น้อยลง และหมั่นดูแลผิวด้วยโลชั่นบำรุงผิวอยู่สม่ำเสมอ เพราะผิวที่แห้งลอกเป็นขุย จะทำให้เกิดอาการคัน ตามมาด้วยการเกาและเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณผิวหนังได้ ในรายที่ทิ้งให้ผิวแห้งลอกเป็นเวลานานๆ

Related Posts

Send this to a friend