HEALTH

เห็นชอบ 3 วาระสุขภาพปี 66 “สุขภาวะทางจิต-จัดการน้ำ-พื้นที่เศรษฐกิจ”

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ.2565-2566 ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) กรอบการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ซึ่งเตรียมจัดขึ้นในวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 ณ เซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ด้วยประเด็นหลัก (Theme) “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ต่อเนื่องจากครั้งที่ 15

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คจ.สช.ยังได้ร่วมกันมีมติเห็นชอบ ประกาศประเด็นที่มีความพร้อมพัฒนาเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 จำนวน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การพัฒนาระบบสุขภาวะทางจิต ร่วมกับการป้องกันและลดความรุนแรงในสังคมไทย 2.การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม และ 3.การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธาน คจ.สช. เปิดเผยว่า “ประเด็นทั้ง 3 หัวข้อนี้ ได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการ ที่เข้ามาช่วยคัดเลือกประเด็นที่มีความชัดเจน เป็นประเด็นในระดับประเทศ มีเจ้าภาพหลัก รวมทั้งมีภาครัฐเกือบทุกหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคมเป็นวงกว้าง โดยกระบวนการเหล่านี้จะทำให้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีความทั่วถึงและตอบโจทย์ได้มากขึ้น”

“ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ที่นับว่า อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ กลไกของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เองที่อยู่ในช่วงการสรรหาชุดใหม่ ตลอดจนตัวของเลขาธิการ คสช.ที่จะมีการคัดเลือกคนใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้โจทย์ของกระบวนการสมัชชาสุขภาพ จะต้องมีความยืดหยุ่น และไปด้วยกันทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด หรือในเชิงประเด็น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น”

“ตลอด 16 ปีของกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 สิ่งที่อยากฝากถึงประชาชน คือการเกิดความตื่นรู้ในเรื่องของ กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ ว่ามีความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของตนอย่างไร แล้วเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ด้วยกัน เพราะสมัชชาสุขภาพนั้น ไม่ใช่กระบวนการของนักวิชาการ หรือของข้าราชการเท่านั้น แต่เป็นการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในสังคม”

“จากปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่าประชาชนมีความตื่นตัว ให้ความสนใจกับนโยบายของทางพรรคการเมืองมากขึ้น ซึ่งสมัชชาสุขภาพเองก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง และเป็นเส้นทางตามกฎหมาย ที่พร้อมจะดำเนินการในเรื่องนี้ จึงอยากให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจและคุ้นเคย กับกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ แบบมีส่วนร่วมนี้ไปด้วยกัน”

ด้าน นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 16 กล่าวว่า “สำหรับประเด็น “การพัฒนาระบบสุขภาวะทางจิต ร่วมกับการป้องกันและลดความรุนแรงในสังคมไทย” หรือชื่อใหม่คือ “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” เป็นประเด็นที่สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ ความรุนแรงในสังคม เหตุการณ์กราดยิงที่สร้างความสะเทือนขวัญให้กับประชาชน ตลอดจนเรื่องภาวะความเครียด อาการซึมเศร้า ที่สังคมเริ่มให้ความสำคัญกับความหมายของสุขภาพจิต ในเชิงของการส่งเสริมป้องกันมากยิ่งขึ้น”

“ในเบื้องต้นขอบเขตของประเด็นนี้ จะสร้างระบบการอภิบาลระบบสุขภาพจิต โดยปรับนิยามของสุขภาพจิต (mental health) สู่สุขภาวะทางจิต (mental well-being) มุ่งเน้นในการเตรียมระบบที่เอื้อให้ประชาชนมีสุขภาวะทางจิต อันจะนำไปสู่การป้องกันการเกิดความรุนแรง”

ขณะที่ประเด็น “การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม” เป็นความสืบเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วม ไม่ว่าจะในช่วงปีที่ผ่านมา หรือย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2554 ที่ก่อให้เกิดภาพความเหลื่อมล้ำ ของการบริหารจัดการน้ำ ขณะที่ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ก็เป็นความกังวลถึงเหตุการณ์ภัยแล้ง น้ำหลาก น้ำท่วม ที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำจะเป็นไปได้อย่างไร”

“ในส่วนของประเด็น “การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ” สืบเนื่องจากหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ซ้ำเติมผลกระทบ ขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ประกอบกับสภาพของสังคมผู้สูงอายุ ที่สั่นคลอนความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ซึ่งภาครัฐได้ใช้กระบวนการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ที่ กระจายความเจริญไปในพื้นที่ต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบ จากโครงการพัฒนาอย่างที่เคยเกิดขึ้น”

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติ แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาประเด็น ที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ/วิชาชีพ และภาคประชาสังคม/ชุมชน จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะที่ 1 ประเด็นการพัฒนาระบบสุขภาวะทางจิตร่วมกับการป้องกัน และลดความรุนแรงในในสังคมไทย โดยมีอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธาน และ คณะที่ 2 ประเด็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม โดยมีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธาน

Related Posts

Send this to a friend