GREEN BUSINESS

ผลสำรวจชี้ คนไทยกังวล ‘สิ่งแวดล้อม’ อันดับ 1 พฤติกรรมรักษ์โลกยังอยู่ที่ ‘สวิตช์ไฟ’

วันนี้ (17 มิ.ย. 68) ผลสำรวจล่าสุดประจำปี 2568 โดยมาร์เก็ตบัซซ (Marketbuzzz) ร่วมกับวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยภาพที่น่าสนใจของคนไทย ที่แม้จะเผชิญแรงกดดันด้านค่าครองชีพ แต่ยังคงยกให้ปัญหา ‘สิ่งแวดล้อมและมลพิษ’ เป็นความกังวลอันดับหนึ่ง (44%) ทว่าพฤติกรรมการลงมือแก้ไขปัญหากลับยังจำกัดอยู่กับการกระทำง่ายๆ ภายในบ้านเป็นหลัก

ผลสำรวจซึ่งจัดทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 พบว่าความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมยังคงอยู่ในระดับสูง แซงหน้าความกังวลด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น (42%) และภาพรวมเศรษฐกิจ (30%) โดยสามประเด็นสิ่งแวดล้อมที่คนไทยกังวลมากที่สุดคือ ภาวะโลกร้อน (46%) มลพิษทางอากาศ (45%) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (29%)

ช่องว่างระหว่าง ‘ความกังวล’ และ ‘การลงมือทำ’

แม้คนไทยกว่า 65% จะเชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต และเกือบครึ่ง (48%) มองว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ผลสำรวจกลับสะท้อน ‘ช่องว่างระหว่างความกังวลและการลงมือทำ’ อย่างชัดเจน โดยพฤติกรรมรักษ์โลกที่ทำบ่อยที่สุดคือการกระทำที่ควบคุมได้ง่ายและทำได้ด้วยตนเอง เช่น การปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน (50%) และการปิดเครื่องปรับอากาศ (44%) ในทางกลับกัน พฤติกรรมที่ต้องอาศัยความพยายามมากขึ้นหรือมีปัจจัยภายนอกเกี่ยวข้องกลับมีสัดส่วนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีเพียง 23% ที่ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกจากร้านค้า

โอกาสทองของแบรนด์ที่ใส่ใจความยั่งยืน

นายแกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาร์เก็ตบัซซ มองว่า ช่องว่างดังกล่าวไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็น “คำเชิญชวน” ให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนความกังวลของผู้คนให้เป็นการลงมือทำอย่างจริงจัง โดยผลสำรวจชี้ว่า 66% ของคนไทยพร้อมที่จะสนับสนุนองค์กรหรือแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนสามารถเป็น “ปัจจัยชี้ขาด” ในการตัดสินใจซื้อได้ หากคุณสมบัติด้านราคาและคุณภาพของสินค้าใกล้เคียงกัน

ด้าน ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า การที่คนไทยยังคงกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในความรุนแรงของปัญหา อย่างไรก็ตาม ช่องว่างที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐมาสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น

ผศ.ดร.ประภาภรณ์ เน้นย้ำว่า “นี่คือจุดที่ความเป็นผู้นำขององค์กรมีบทบาทสำคัญ ธุรกิจมีทรัพยากรและอิทธิพลที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ยั่งยืนเข้าถึงง่ายขึ้น ทั้งในด้านราคาและความสะดวกสบาย เมื่อบริษัทต่างๆ เป็นผู้นำด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย”

ท้ายที่สุด ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าความตระหนักรู้ของคนไทยอยู่ในระดับสูงแล้ว แต่ความท้าทายต่อไปคือการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อเปลี่ยนความกังวลนี้ให้เป็นการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat