FOOD - DRINK

เลือกอาหารเหมาะกับช่วงวัย ช่วยเสริมร่างกายแข็งแรง สร้างพัฒนาการสมองเด็กวัยเรียนเติบโต

โภชนาการที่ดีและเหมาะสมกับช่วงวัย ย่อมส่งเสริมการเจริญเติบโต และพัฒนาการให้กับเด็กวัยเรียนได้ เพราะหากลูกหลานวัยไม่เกิน 12 ปี ได้บริโภคอาหารที่ดี และเหมาะกับช่วงอายุ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้น การเติบโตของเด็กวัยนี้ โดยเฉพาะกลุ่มของผักผลไม้ กลุ่มต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงแคลเซียมและโปรตีน ที่มีส่วนกระตุ้นความสูง และแม้ว่าสารอาหารดังกล่าว จะสามารถหาได้ง่ายและมีราคาไม่สูงมาก แต่ทว่าสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง ที่อาจส่งผลกรทบต่อครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ ทำให้มีรายได้น้อยลง หรือหมุนเงินไม่ทัน ซึ่งอาจทำให้เด็กได้รับโปรตีน จากไข่ไก่ได้น้อยลงเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นอาหารที่มีราคาย่อมเยาก็ตาม หรือบางครอบครัวที่พ่อแม่ ไม่มีเวลาปรุงอาหารเช้า ทำให้เด็กๆวัยเรียนหลายคนต้องรับประทาน ข้าวเหนียวหมูปิ้งเป็นประจำทุกวัน กระทั่งทำให้เด็กขาดสารอาหาร และเสี่ยงต่อการป่วยโรคอ้วน จากเมนูอาหารเช้าดังกล่าวนั้น

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “แววตา เอกชาวนา” นักกำหนดอาหารวิชาชีพอิสระ และที่ปรึกษาโครงการกินผักและผลไม้ดีวันละ 400 กรัม จากสสส.ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร ตามหลักโภชนาการของเด็กวัยเรียน ที่อายุไม่เกิน 12 ปีไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะอาหารกลุ่มโปรตีนและแคลเซียม ที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูก และการเจริญเติบโต อีกทั้งผักผลไม้ที่ช่วยบำรุงสายตา ระหว่างที่เด็กไปโรงเรียน รวมถึงการพลิกแพลงเมนูสารพัดประโยชน์ ที่หาได้ริมรั้วบ้าน เพื่อทดแทนการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่หลายครอบครัว นิยมให้เด็กรับประทาน เพื่อช่วยเซฟค่าใช้จ่ายช่วงเศรษฐกิจขาลง ให้เป็นทางเลือกในการเสริมสร้าง โภชนาการที่ดีในราคาไม่แพง ให้กับลูกหลานวัยกำลังเติบโตได้รับประทาน

แววตา กล่าวว่า “เด็กวัย 11 ไม่เกิน 12 ปีนั้น เป็นช่วงที่อยู่ในวัยกำลังสูง และเป็นวัยที่กำลังเติบโต ดังนั้นอาหารกลุ่มเพิ่มความสูงให้กับเด็กวัยเรียนนี้ คือ กลุ่มโปรตีนและแคลเซียม ทั้งนี้แนะนำว่าให้เด็กวัยนี้ดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว ดังนั้นจึงเห็นโรงเรียนแจกนมให้เด็กดื่มวันละ 2 กล่อง โดยดื่มที่โรงเรียน 1 กล่อง และกลับไปดื่มที่บ้านอีก 1 กล่อง เพราะ “แคลเซียม” ในนมจะทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง และทำให้เด็กวัยเรียนทั้งหญิงและชาย สูงตามวัยได้เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ “โปรตีน” ที่ได้จากปลาตัวเล็กตัวน้อย ไข่ไก่ ก็มีส่วนเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง จึงมีส่วนช่วยเพิ่มความสูงได้นั่นเอง อีกทั้งโปรตีนยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการติดโรคในเด็กสู่เด็กด้วยกันได้ ดังนั้นหากผู้ปกครองให้เด็กกินไข่ไก่วันละ 1 ฟอง พร้อมกับดื่มนมวันละ 2 แก้ว รวมถึงเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย ซึ่งอยู่ในกลุ่มของโปรตีน เช่น เนื้อปลาทะเล ที่ปรุงด้วยการไม่ทอด แต่ให้เปลี่ยนเป็นนึ่ง ต้ม และย่างแทน สัปดาห์ละ 100 -200 กรัม หรือ 2 ชิ้นต่อสัปดาห์ (ชิ้นขนาดเท่าฝ่ามือเด็กจากปลายนิ้วจนถึงข้อมือ) ซึ่งไม่เพียงช่วยเสริมสร้างความสูง ยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ที่สำคัญยังช่วยบำรุงสมอง ที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ ให้กับเด็กวัยเรียนได้เช่นกัน

นอกจากนี้การ “ดื่มน้ำเปล่า” ในเด็กวัยเรียนก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยลดปัญหาฟันผุในเด็ก จากการกินขนมที่มีรสหวานและไม่แปรงฟัน ดังนั้นนอกจากดื่มน้ำสะอาดแล้ว ก็ต้องปลูกฝังเรื่องการบ้วนปากให้เด็กด้วย หรือดื่มนมแล้วดื่มน้ำเปล่าตาม เพื่อป้องกันไม่ให้คราบแบคทีเรีย ติดอยู่ตามซอกฟัน เพราะถ้าเด็กมีฟันผุและไม่ได้รับการดูแล จะส่งผลทำให้เกิดโรคหัวใจ เพราะอาการปวดจากฟันผุนั้น จะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด กระทั่งส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ อีกทั้งเมื่อเด็กฟันผุก็จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง ดังนั้นการดื่มน้ำนอกจากทำให้เด็กรู้สึกสดชื่นแล้ว ยังลดคราบสกปรกในช่องปากได้อีกด้วย

ที่สำคัญการปลูกฝังให้เด็ก “กินผัก” ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเด็กจะได้รับสารพฤกษเคมี ที่ประกอบด้วยสารไลโคปีน สารเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยบำรุงสุขภาพของสายตา และสุขภาพโดยรวมทั้งตัวให้แข็งแรง โดยเฉพาะการที่เด็กต้องใช้สายตา ในการจ้องกระดานดำ เช่น สารเบต้าแคโรทีน ที่อยู่ใน ฟักทอง,แครอท มะละกอสุก,แคนตาลูป,ผักตำลึง ก็จะช่วยถนอมเซลล์ ของจอประสาทตาไม่ให้เสื่อมง่าย และช่วยป้องกันรังสียูวีให้กับเด็กๆได้เช่นกัน โดยสรุปนั้นใน 1 วัน แนะนำให้เด็กรับประทานผัก และผลไม้หลากสี ให้ได้ประมาณ 1 กำมือเด็ก เช่น กินแตงโม 2 ชิ้น ฝรั่ง 3 ชิ้น ร่วมกับฟักทองและแครอทต่างๆ ที่ร่วมอยู่ในเมนูอาหารที่รับประทาน ที่ลืมไม่ได้คือแนะนำให้เด็กวัยเรียน “เลี่ยงการบริโภคอาหารแปรรูป” เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็ง และมีโซเดียมหรือเกลือสูง ทำให้หัวใจทำงานหนัก และถ้าบริโภคมากเกินไป และสะสมในร่างกายตั้งแต่เด็ก ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้โตมาเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ

“สำหรับเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย และมีโอกาสบริโภคไข่ไก่ได้น้อยลงเช่นกัน อยากให้เปรียบเทียบดูว่าจริงๆแล้ว ไข่ไก่ 1 ฟองราคาอยู่ที่ 5 บาท แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่ที่ 7 บาท ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลือกเมนูจากไข่แทนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่น ปรุงเมนูข้าวผัดไข่ ใส่ผักตำลึงข้างรั้ว ซึ่งดีกว่ากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่อยู่ในซอง มักจะความเค็มหรือโซเดียมสูง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงให้เด็กที่อายุไม่ถึง 12 ปีรับประทาน ที่สำคัญเมนูข้าวผัดไข่ใส่ผักตำลึง ก็อุดมไปด้วยโปรตีนสูง ทำให้กล้ามเนื้อของเด็กแข็งแรง ซึ่งมีผลต่อส่วนสูงของเด็กเช่นกัน หรือหากบ้านไหนที่ไม่สามารถ หาไข่ให้เด็กๆรับประทานได้ เนื่องจากหมุนเงินไม่ทัน ก็สามารถทำถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ต้มน้ำตาลเป็นเมนูของว่าง ให้เด็กรับประทานแทนไข่ไก่ หรือ หุงข้าวผสมลูกเดือย หรือ ถั่วแดง ถั่วดำ เพื่อให้เด็กได้บริโภคทดแทนโปรตีนจากไข่ไก่ก็ได้เช่นกัน รวมถึงให้เด็กกินข้าวกับผลไม้ เช่น มะละกอ แตงโม หรือ กล้วยที่มีวิตามินและโปรตีน ก็ดีกว่าการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเช่นกัน”

“ส่วนบ้านไหนที่ให้เด็กรับประทานเมนูอาหารเช้า อย่างหมูปิ้งข้าวเหนียวเป็นประจำนั้น ก็อยากให้ระวังเรื่องสุขภาพของเด็ก เพราะหมูปิ้งส่วนใหญ่จะมีมันหมูอยู่ครึ่งหนึ่ง และเมื่อเนื้อหมูถูกความร้อนจากการปิ้ง ก็เหลือเพียงแค่มันหมูซึ่งไม่ใช่เนื้อสัตว์ ตรงนี้จะทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่น้อยลง เสี่ยงต่อการอ้วนลงพุง นอกจากนี้เด็กยังได้บริโภคผงชูรส และถ่านที่ปิ้งหมูก็เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ดังนั้นแนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนเป็นเมนูปลาทูทอดหรือปิ้ง เพื่อกินกับข้าวเหนียว หรือปลาเค็มทอด กินกับข้าวเหนียว และหากผักไม่มีก็สามารถให้เด็กกินกล้วยน้ำว้าก็ได้เช่นกัน เพราะเป็นผลไม้ที่หาได้ง่ายตามท้องถิ่น และช่วยทำให้เด็กๆอิ่มท้อง พร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งต่างๆได้ดี”

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat