‘Kearney’ เผยไทยติดท็อป 10 ตลาดเกิดใหม่น่าลงทุน เอเชียแปซิฟิกโตแรง

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปี 2568 ของ Kearney พบว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตจากการขับเคลื่อนของนวัตกรรม ท่ามกลางแรงกดดันทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ตลาดที่น่าลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
Kearney Global Business Policy Council เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDICI) ประจำปี 2568 ซึ่งสะท้อนมุมมองนักลงทุนต่อการไหลเวียนของ FDI ในช่วง 3 ปีข้างหน้า รวมถึงมุมมองต่อประเทศไทย
ดัชนี FDICI ปี 2568 ซึ่ง Kearney จัดทำเป็นปีที่ 27 แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของกระบวนการทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎระเบียบ ผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ และศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมี 8 ตลาดติด 25 อันดับแรกของโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น (อันดับ 4), จีน (รวมฮ่องกง) (อันดับ 6), ออสเตรเลีย (อันดับ 10), เกาหลีใต้ (อันดับ 14), สิงคโปร์ (อันดับ 15), นิวซีแลนด์ (อันดับ 16), ไต้หวัน (อันดับ 23) และอินเดีย (อันดับ 24)
ผลสำรวจของ Kearney พบว่า นักลงทุนให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของบางตลาดในเอเชียแปซิฟิก ขณะที่ความท้าทายจากภูมิรัฐศาสตร์โลกส่งผลกระทบต่อมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อตลาดอื่น ๆ
ประเทศไทยติดอันดับ 10 ในดัชนี FDICI กลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2566 โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ระบุว่า ทักษะและความสามารถของแรงงานไทยเป็นเหตุผลหลักที่ดึงดูดการลงทุน (34%) รองลงมาคือความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ (24% เท่ากัน)
ชาญชัย ถนัดค้าตระกูล กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Kearney กล่าวว่า “ประเทศไทยแสดงบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมการลงทุนและลดอุปสรรคในการดำเนินงานของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในการดึงดูดเงินลงทุน FDI ทำให้ไทยต้องพัฒนานวัตกรรมและเสริมความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะ และสร้างมาตรการดึงดูดการลงทุนที่ตรงจุด”
ชาญชัย กล่าวเสริมว่า “มาตรการภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อไทย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม และยานยนต์”
“แม้จะมีความท้าทาย ประเทศไทยยังคงมีจุดแข็งในการดึงดูดนักลงทุน ด้วยปัจจัยพื้นฐานด้านบุคลากร ศักยภาพ ความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยนโยบายเชิงรุกและมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เหมาะสม ประเทศไทยจะสามารถสร้างคุณค่าระยะยาวได้” ชาญชัย กล่าวสรุป
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งก้าวขึ้นจากอันดับ 7 สู่อันดับ 4 แสดงถึงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจที่เติบโต
เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ ซึ่งขยับขึ้นจากอันดับ 20 มาอยู่ที่ 14 โดย 41% ของนักลงทุนระบุว่า ภาคเทคโนโลยีที่พัฒนาของเกาหลีใต้เป็นปัจจัยสำคัญ และการลงทุนของรัฐบาลในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ก็มีผลต่อการจัดอันดับ
ผลสำรวจพบว่า นักลงทุนในเอเชียแปซิฟิก 82% วางแผนเพิ่มการลงทุน FDI ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และ 50% มีมุมมองต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในเชิงบวกมากกว่าปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น โดย 43% ของนักลงทุนในเอเชียแปซิฟิก มองว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นเป็นแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดในปีหน้า (เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน) สะท้อนความกังวลต่อความขัดแย้งทั่วโลกที่อาจกระทบห่วงโซ่อุปทาน
36% คาดการณ์การบังคับใช้กฎระเบียบทางธุรกิจที่เข้มงวดขึ้นในตลาดพัฒนาแล้ว (เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน) และ 28% มองว่า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบในตลาดเกิดใหม่ที่เข้มงวดขึ้น เป็นปัจจัยที่น่ากังวล
จีนลดอันดับจาก 3 มาอยู่ที่ 6 สะท้อนความท้าทายทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จีนยังคงโดดเด่นด้านนวัตกรรม เช่น การเปิดตัว DeepSeek AI
สิงคโปร์ลดอันดับจาก 12 มาอยู่ที่ 15 และอินเดียลดจาก 18 มาอยู่ที่ 24 สะท้อนความกังวลต่อความเสี่ยงด้านการค้า และความซับซ้อนของกฎระเบียบ
แม้จะมีแรงกดดันจากหลายปัจจัย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเอเชียแปซิฟิกยังคงสูง และตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็แข็งแกร่ง โดยไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ติด 15 อันดับแรกด้านความเชื่อมั่นเชิงบวกสุทธิของนักลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และไทยยังคงอยู่ในอันดับ 5 ด้านความเชื่อมั่นเชิงบวกสุทธิของนักลงทุนในปี 2568
ดัชนี FDICI ของ Kearney เป็นผลสำรวจประจำปีที่รวบรวมความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงทั่วโลก เพื่อจัดอันดับตลาดที่มีศักยภาพในการดึงดูด FDI มากที่สุดในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดที่นักลงทุนมีแผนจะลงทุนในอนาคต
ดัชนี FDICI ปี 2568 นี้จัดทำจากข้อมูลปฐมภูมิจากแบบสำรวจของ Kearney ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูง 536 ราย จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ในเดือนมกราคม 2568 โดยผู้ตอบแบบสำรวจเป็นผู้บริหารระดับ C-Level ผู้บริหารระดับภูมิภาค และผู้นำองค์กร จากบริษัทที่มีรายได้ประจำปีไม่ต่ำกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสำนักงานใหญ่ใน 30 ประเทศ และครอบคลุมทุกภาคส่วน (บริการ 53%, อุตสาหกรรม 35%, เทคโนโลยีสารสนเทศ 12%)
ดัชนี FDICI คำนวณจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของคำตอบ โดยพิจารณาจากแนวโน้มการลงทุนโดยตรงในตลาดเป้าหมายในช่วง 3 ปีข้างหน้า ข้อมูล FDI อ้างอิงจาก UNCTAD ซึ่งพบว่า ตลาดที่ศึกษาในการสำรวจนี้มีมูลค่า FDI คิดเป็น 97% ของเงินลงทุนที่ไหลเข้าทั่วโลกในปี 2566
ดัชนีนี้คำนวณจากข้อมูลของบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศเท่านั้น และค่าดัชนีที่สูงขึ้นสะท้อนถึงความน่าดึงดูดในการลงทุนที่มากขึ้น
ข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจอ้างอิงจากการประมาณการและการคาดการณ์ล่าสุดจาก Oxford Economics