CRIME

ผนึกกำลังค้านร่าง พ.ร.บ.ป.วิ.อาญา พรรคประชาชน ชี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

‘สมาคมตำรวจ-สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ-ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ‘ ผนึกกำลังค้านร่าง พ.ร.บ.ป.วิ.อาญา พรรคประชาชน ชี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หวั่น แทรกแซงการสอบสวน เสี่ยงข้อมูลรั่วไหล และอาจทำให้คดีล่าช้า

วันนี้ (23 พ.ค. 68) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ พร้อมด้วย พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิต ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ และ พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ที่ปรึกษาชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ ร่วมกันแถลงคัดค้านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชน

ร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญในการปรับเปลี่ยนกระบวนการสอบสวน โดยให้อำนาจพนักงานอัยการกำกับ ควบคุม และมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆ ของการสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงการมีอำนาจให้ความเห็นชอบก่อนออกหมายเรียกหรือก่อนการขอหมายจับ ขัง ค้น และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ทำความเห็นแย้งแทนตำรวจ ดังนั้น สมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ ได้พิจารณาร่างกฎหมายนี้อย่างรอบคอบแล้ว และมีความเห็นว่าไม่สมควรให้ผ่านความเห็นชอบด้วยเหตุผลสำคัญ 4 ข้อ

1.ประเด็นการแจ้งเหตุต่อฝ่ายปกครองและอัยการเมื่อพบการกระทำผิดตามมาตรา 17 (ใหม่) ของร่าง พ.ร.บ.ฯ กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งเหตุต่อฝ่ายปกครอง และอัยการทันทีเมื่อพบการกระทำผิด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ข้อมูลในคดีสำคัญรั่วไหล ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพยาน ผู้เสียหาย หรือแม้แต่ชื่อเสียงของผู้ต้องหาที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดในชั้นศาล

การสืบสวนควรเป็นไปเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันเหตุหรือพิสูจน์ทราบเหตุ โดยไม่มีผลกระทบต่อบุคคลทั่วไป และควรดำเนินการอย่างสงบเพื่อประสิทธิภาพในการติดตามจับกุมผู้กระทำผิด การที่ร่างกฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องรายงานการสืบสวนต่อพนักงานอัยการในลักษณะขออนุญาตหรือขออนุมัติจะเป็นการสกัดกั้นการแสวงหาข้อเท็จจริงของเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวนก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ปฏิบัติประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ แต่กลับเป็นผลประโยชน์ต่อผู้กระทำความผิดมากกว่า

2.ประเด็นการออกหมายเรียก หมายจับ หมายขัง หมายค้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการก่อน การให้อำนาจอัยการเห็นชอบก่อนการออกหมายเรียกตามมาตรา 53/1 และก่อนการขอหมายจับ ขัง ค้น ตามมาตรา 57 (ใหม่) จะทำให้กระบวนการสอบสวนซ้ำซ้อน และล่าช้าเกินความจำเป็น ทั้งที่ปัจจุบันมีการกลั่นกรองจากศาลอยู่แล้ว การออกหมายอาญาตามกฎหมายปัจจุบันให้อำนาจพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน และพนักงานฝ่ายปกครองยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นอิสระ โดยศาลเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจออกคำสั่งอนุมัติหมายอาญาเพื่อให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนในชั้นก่อนฟ้องเป็นไปด้วยความต่อเนื่อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

การเพิ่มขั้นตอนโดยให้พนักงานสอบสวนต้องขอคำรับรองจากพนักงานอัยการก่อนยื่นคำร้องต่อศาลจะเพิ่มภาระ และทำให้คดีของประชาชนล่าช้าโดยไม่จำเป็น การออกหมายเรียกผู้ต้องหาเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหา และชี้แจงเท่านั้น ไม่ใช่การตัดสินความผิด การกำหนดให้ต้องมีความเห็นชอบจากอัยการก่อนจึงไม่จำเป็น และเป็นการถ่วงเวลา

3.ประเด็นการให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบ กำกับการสืบสวนสอบสวน และพยานหลักฐานได้ทันทีในคดีสำคัญ รวมถึงการให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการนั้น ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 (2) ที่บัญญัติให้ “ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม”

ซึ่งเป็นการยืนยันหลักการแยกอำนาจสอบสวนออกจากอำนาจฟ้องร้อง เพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุล และคานอำนาจกัน การที่ร่างกฎหมายกำหนดให้พนักงานอัยการ และฝ่ายปกครองเข้ามามีบทบาทในลักษณะควบคุมหรือสั่งการผ่านกระบวนการรายงาน และขออนุญาตจะเป็นการทำลายหลักการดังกล่าว ทำให้การตรวจสอบ ถ่วงดุล และคานอำนาจด้อยประสิทธิภาพไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีอรรถคดี และอาจส่งผลให้การดำเนินคดีอาญาขาดประสิทธิภาพ นำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม

4.ประเด็นการให้เปิดเผยพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนระหว่างสืบสวนสอบสวน โดยกำหนดให้เปิดเผยหรือแจ้งพยานหลักฐานที่มีแก่ผู้ต้องหาทราบ การค้นหาความจริงในชั้นศาลใช้หลักการที่พยานคนที่จะเบิกความภายหลังไม่ควรรับรู้ข้อเท็จจริงจากพยานคนที่จะเบิกความก่อน เช่นเดียวกับการสืบสวนสอบสวนที่กระทำเป็นการลับย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่า การที่ร่างกฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนต้องเปิดเผยพยานหลักฐาน และผลการสืบสวนสอบสวนให้ผู้ต้องหาทราบ

ย่อมทำให้ผู้ต้องหารู้ช่องทางในการยุ่งเหยิงหรือทำลายพยานหลักฐาน ทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมอาชญากรรมลดลง นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลหลักฐานยังหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายและพยาน ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติรับรอง และกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในสำนวนการสืบสวนสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ฉะนั้นร่างกฎหมายนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat